ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ อีจีเอ เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการโครงการยกระดับคุณภาพงานบริการภาครัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Flagship Project) เพื่อเปลี่ยนผ่านการให้บริการของภาครัฐไปสู่ประชาชน หรือ Digital Government Transformation ได้อย่างสมดุล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจึงมอบหมายให้ อีจีเอ เข้ามาติดตามบริการที่เกี่ยวข้องทุก 6 เดือน ปรากฎว่า การพัฒนาระบบสนับสนุนงานบริการประชาชนตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวก 2558, การอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการเริ่มต้นธุรกิจ และการสร้างระบบสื่อสารออนไลน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สื่อสารเคลื่อนที่ หรือ G-Chat มีความคืบหน้ามากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา
โดยระบบสนับสนุนงานบริการประชาชนตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวก 2558 มี 2 ส่วนคือ การจัดทำตู้บริการอเนกประสงค์ของรัฐ หรือ Government Smart Kiosk ซึ่งติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนทำธุรกรรมหรือตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ของภาครัฐผ่านจุดบริการ และการจัดทำศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานเผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดการติดต่อราชการ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการขอรับบริการในแต่ละธุรกรรมทั้งหมดเพื่อเป็นคู่มือให้กับประชาชน และสำหรับใช้อ้างอิงการดำเนินงานและบริการของแต่ละหน่วยงานราชการทั้งหมด
ทั้งนี้ความคืบหน้าตู้ Government Smart Kiosk นั้น ล่าสุด อีจีเอ ได้พัฒนาระบบเพิ่มขึ้นแล้วถึง 17 บริการ เป็นการเพิ่มบริการเข้ามามากกว่าเดิมถึง 100% โดยบริการที่บรรจุในตู้บริการอเนกประสงค์ของรัฐประกอบด้วย ระบบข้อมูลสิทธิประกันสุขภาพ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ระบบตรวจสอบเงินสะสม (กรณีชราภาพ), ระบบตรวจสอบสิทธิประกันสังคม จากสำนักงานประกันสังคม, ระบบตรวจสอบสิทธิ์การรับเบี้ยคนพิการ จากสำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น, ระบบประวัติการฟื้นฟู และระบบประวัติการเบิกจ่ายอุปกรณ์ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ระบบข้อมูลบุคคล จากกรมการปกครอง, ระบบตรวจสอบการใช้บริการ App center (log) จาก อีจีเอ และข้อมูลบัญชีสินเชื่อในเครดิตบูโรแบบสรุป จากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ
ทั้งนี้ ระบบที่เพิ่มเข้ามาใหม่คือ ระบบตรวจสอบรายการนัดหมาย รพ.รามาฯ จาก รพ. รามาธิบดี, ระบบตรวจสอบข้อมูลสุขภาพ ในสังกัด สป.กระทรวงสาธารณสุข จากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ระบบตรวจสอบข้อมูลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา จากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, ระบบตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้น้ำ จากการประปานครหลวง, ระบบติดตามเรื่องร้องเรียน จากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (info.go.th) จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, ระบบยืนยันตัวบุคคล (OpenID on Kiosk) จากอีจีเอ และระบบตรวจสอบสิทธิ์ผู้ป่วย รพ.ราชวิถี จากรพ.ราชวิถี
ด้านศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ หลังจากที่ได้จัดทำเว็บไซต์ “ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ” เว็บไซต์info.go.th ขึ้นเพื่อบริการประชาชนในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการบรรจุคู่มือการติดต่อเข้าไว้ในเว็บไซต์ทั้งหมดกว่า 727,802 คู่มือ โดยแนวทางการพัฒนาระบบต่อไปนั้น อีจีเอ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการสืบค้น หรือ Search Engine ให้ง่ายมากกว่าเดิม เนื่องจากระบบเดิมคำค้นส่วนใหญ่จะเป็นภาษาราชการ และระบุตามกฎหมายที่กำหนด ซึ่งยังไม่ตรงกับการใช้งานจริงของประชาชน ดังนั้นระบบสืบค้นใหม่จะช่วยให้ประชาชนสามารถสืบค้นข้อมูลได้ง่ายและเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ได้ร่วมมือกับสำนักงานก.พ.ร. ออกแบบแอปพลิเคชัน “คู่มือประชาชน” เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สื่อสารเคลื่อนที่ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะเริ่มให้บริการประชาชนในปลายปีนี้
สำหรับการอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการในการเริ่มต้นธุรกิจ [Doing Business Platform] นับเป็นนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสามารถเริ่มต้นธุรกิจมีความง่าย สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมามีการพัฒนาเว็บไซต์ biz.govchannel.go.th หรือ “ศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ” เพื่อเป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จภายในจุดเดียว โดยล่าสุดมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นจัดตั้งบริษัทใหม่ สามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐได้จากจุดเดียว ผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ระบบยังพัฒนาให้สามารถขอใช้บริการน้ำประปาและไฟฟ้า จากการประปานครหลวง และการไฟฟ้านครหลวงได้แล้ว โดยแนวทางการพัฒนาระยะต่อไปซึ่งจะเปิดใช้บริการในเร็วๆ นี้คือ ระบบที่พัฒนาบริการร่วมกับ กรมสรรพากร ให้สามารถจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ Vat Service และการขอใช้ไฟฟ้าและประปาในระดับภูมิภาค รวมถึงขอใช้บริการโทรศัพท์จาก บมจ.ทีโอทีได้ ในต้นปีหน้า
นอกจากนี้ระบบที่มีการพัฒนาและได้รับความนิยมอย่างมากคือ ระบบการติดต่อสื่อสารแบบออนไลน์สำหรับหน่วยงานภาครัฐผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สื่อสารเคลื่อนที่ หรือ G-Chat ซึ่งเป็นระบบ Chat ของภาครัฐ ที่ทำให้เกิดการสื่อสารร่วมกันเป็นทีมของภาครัฐมีความปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐที่เข้าร่วมโครงการนี้ 182 หน่วยงาน และมีผู้ใช้งานรายบุคคลเกือบ 175,000 บัญชี โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยลำดับการใช้งานล่าสุดอันดับหนึ่งคือ กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงกลาโหม และกระทรวงคมนาคม ตามลำดับ
สำหรับความคืบหน้า “Digital Government Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่บริการดิจิทัลของภาครัฐในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ในระดับนโยบายมีความชัดเจนที่ต้องการยกระดับการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัลให้เร็วกว่าเดิม ดังนั้นเชื่อว่าในรอบครึ่งปีต่อไปจะมีความก้าวหน้าด้านการบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นตามโครงการยกระดับคุณภาพงานบริการภาครัฐเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Flagship Project) ของรัฐบาลและตอบโจทย์การให้บริการประชาชนมากยิ่งขึ้น” ดร.ศักดิ์ กล่าวสรุป
สามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ www.ega.or.th/th/contentlist/931/11654/