เนื้อหาวันที่ : 2016-11-23 11:42:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 625 views

ซีเกทจับมือองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นำเยาวชนไทยเข้าสู่โลกของวิทยาศาสตร์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

รศ. นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (แถวยืน ที่ 2 จากขวา) เป็นประธานในพิธีแถลงข่าว ความร่วมมือในโครงการส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 2 ระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และซีเกท ประเทศไทย” โดยมีผู้บริหารอพวช.และ ซีเกท รวมทั้งน้องๆ นักเรียนชั้น ป. 6 โรงเรียนวัดมูลจินดารามร่วมในพิธี

 

บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดตัว “โครงการส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และซีเกท ประเทศไทย ปีที่ 2” ซึ่งประกอบด้วย โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พาน้องๆ ด้อยโอกาสชมพิพิธภัณฑ์ และกิจกรรมค่ายวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และ STEM โดยมีเป้าหมายในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ผ่านประสบการณ์และการลงมือปฏิบัติจริงและสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาศึกษาต่อทางด้าน STEM  ทั้ง อพวช. และซีเกทหวังว่าจะเปิด   โลกทัศน์และยกระดับกระบวนการคิดของน้องๆ ด้วยข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ตลอดจนความเชี่ยวชาญจากบุคลากรของ อพวช.และซีเกท ประเทศไทย

“โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์พาน้องๆ ด้อยโอกาสเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์” มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนจากโรงเรียนที่ขาดแคลนงบประมาณได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ผ่านการศึกษานอกห้องเรียน ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะมีน้องๆ กว่า 2,200 คน เยี่ยมชมนิทรรศการในแหล่งเรียนรู้ของอพวช. คลองห้า จังหวัดปทุมธานี ได้แก่ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาและพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ

ส่วน “กิจกรรมค่ายวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์และ STEM” ประกอบด้วย 4 ค่าย ได้แก่

  1. “ค่าย Robot Maker” เป็นค่ายที่เปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เรียนรู้ขั้นตอนในการพัฒนาหุ่นยนต์ พร้อมใช้ทักษะในการใช้โปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์และเซ็นเซอร์ ท้ายที่สุด ผู้เข้าค่ายแต่ละกลุ่มต้องพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันที่แสดงให้เห็นทักษะและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ค่ายนี้จัดขึ้นสำหรับน้องๆ เยาวชนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 – มัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 40 คน ระหว่างวันที่ 10-12  ธันวาคม ศกนี้  
  2. “ค่าย IT Career”” เป็นค่าย 2 วัน 1 คืน ที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่น้องๆ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 60 คน ที่สนใจทางด้านไอทีให้ได้มีโอกาสเรียนรู้ข้อมูลของอาชีพ รวมทั้งกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อจะประกอบอาชีพในสายงานไอทีผ่านความสนุกสนานกับกิจกรรมที่หลากหลาย ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำความรู้จากค่ายไปประกอบการตัดสินใจในการเลือกศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปได้ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5-6 พฤศจิกายน ศกนี้
  3. “ค่ายเพลินคิด with STEM+” เป็นค่าย 2 วัน 1 คืน ซึ่งช่วยให้เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รู้จักและเข้าใจวิธีการเรียนรู้ในรูปแบบ STEM สำหรับน้องๆ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 จำนวน 60 คน ระหว่างวันที่ 19-20 พฤศจิกายน ศกนี้
  4. “ค่าย Smart Math” เป็นค่าย 2 วัน 1 คืน ซึ่งเปิดโอกาสให้น้องๆ ระดับประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 60 คนได้มีความเข้าใจเรื่องของคณิตศาสตร์  รวมทั้งเรียนรู้การประยุกต์ใช้คณิตศาสตร์นอกจากการใช้ตัวเลข  ค่ายนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 พฤศจิกายน ศกนี้ 

รศ. นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนายนรเชษฐ์ แซ่ตั้ง ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ โรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัดพร้อมผู้บริหารอพวช. ชมนิทรรศการวัสดุสุดประหลาด (Strange Matter)

 

รศ. นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แสดงความยินดีกับอพวช.และซีเกท โดยกล่าวว่าผมชื่นชมในความร่วมมือของทั้งอพวช.และซีเกทในการจัดโครงการการเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ จากประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของทรัพยากรและแรงงานราคาถูก ไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและรองรับแนวทางการพัฒนาประเทศเพื่อเข้าสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาล”

รศ. นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (แถวยืน กลาง) เป็นประธานในพิธีแถลงข่าวความร่วมมือระหว่างองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และนายนรเชษฐ์ แซ่ตั้ง ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ โรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (แถวยืนซ้าย)

 

นางกรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ  รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “รัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษารูปแบบสะเต็มเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)  มาบูรณาการเพื่อนำไปสู่การคิดแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาชาติอย่างยั่งยืน อพวช. ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้ขานรับนโยบาย การขับเคลื่อนการเรียนรู้สะเต็มศึกษา ในการจัดกิจกรรมในรูปแบบ เล่น-เรียน-รู้ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างบูรณาการ โดยความร่วมมือกับซีเกทในครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมการส่งเสริมสนับสนุนโยบายของรัฐบาล เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต อันจะเป็นการปูพื้นฐานเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเยาวชนของประเทศในระดับเวทีโลกต่อไป”

ในโครงการความร่วมมือระหว่าง อพวช. และซีเกท ปีที่ 2 นี้ เป็นโครงการที่สานต่อความสำเร็จจากความร่วมมือในปีแรก ซึ่งในปีนี้ ซีเกทได้มอบงบประมาณจำนวน 1.49 ล้านบาทให้แก่ อพวช. จากเดิมที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนและน้องๆ ใน จ.ปทุมธานี เข้าร่วมกิจกรรม ในปีนี้ ได้มีการขยายกลุ่มเป้าหมายออกไปให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ห่างไกลมากขึ้น ส่วนค่ายก็เพิ่มจำนวนจากค่ายหุ่นยนต์เพียงสองค่าย เป็นสี่ค่ายซึ่งเป็นค่ายที่มีความหลากหลายและเน้นไปที่เด็กๆ ที่ไม่ค่อยมีโอกาสสัมผัสกับค่ายแบบนี้มาก่อน ซึ่งเด็กส่วนหนึ่งที่มาเข้าค่ายก็เป็นน้องๆ จากโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงาน     ซีเกทโคราชเพื่อให้มีโอกาสได้รับประสบการณ์จากค่ายเหล่านี้

นายนรเชษฐ์ แซ่ตั้ง ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ โรงงานเทพารักษ์ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “จะเห็นได้ว่างานด้าน STEM มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อประเทศเราเป็นหนึ่งในสมาชิกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งมีความต้องการแรงงานที่มีความเกี่ยวข้องกับ STEM เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตำแหน่งงานที่ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะนั้นก็กำลังเป็นที่ต้องการมาโดยตลอด และผู้ที่ทำงานในสาขาเหล่านี้ก็สามารถสร้างโอกาสในการเติบโตจากสายงานดังกล่าวได้ในระยะยาว ดังนั้น เราจึงอยากจะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่น้องๆ เยาวชนตั้งแต่อายุยังน้อย ได้มีโอกาสสัมผัสการเรียนรู้ด้าน STEM และก้าวสู่การเป็นกำลังสำคัญของภาคแรงงานที่มีทักษะและความชำนาญ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต”