TPARK เดินหน้าขยายโลจิสติกส์พาร์คต่อเนื่อง เปิดตัวโครงการ TPARK ลำพูน ตั้งเป้าพัฒนาคลังสินค้าคุณภาพสูงพร้อมใช้ พื้นที่ให้เช่ารวม 97,860 ตารางเมตร บนพื้นที่ 140 ไร่ ใช้งบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในปี 2561 หวังรองรับธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าวัสดุก่อสร้าง และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่กำลังบูมในพื้นที่ภาคเหนือ ย้ำมั่นใจพื้นที่ลำพูนมีศักยภาพในการเติบโตของอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์สูง และดึงดูดเม็ดเงินจากจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทไทคอน ผู้นำด้านการพัฒนาโรงงานและคลังสินค้าคุณภาพสูงพร้อมใช้เพื่อให้เช่ารายใหญ่ของประเทศไทย เปิดเผยว่า “กลุ่มไทคอน ได้เล็งเห็นสัญญาณการขยายตัวในเชิงบวกของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในภาคเหนือมาเป็นระยะ เนื่องจากปัจจุบันภาคเหนือมีความสำคัญมากขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย โดยวัดจากดัชนีชี้วัดมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของสินค้าและบริการ (Gross Regional Products หรือ GRP) ของภาคเหนือที่มีการเติบโตมาโดยตลอด สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจอุปโภคบริโภค ค้าส่งและค้าปลีก วัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (Greater Mekong Sub-regional Economic Cooperation: GMS-EC) ได้แก่ ประเทศกัมพูชา จีน พม่า ลาว เวียดนาม และไทย ด้วยเหตุนี้ ทำให้ภาคเหนือมีความน่าสนใจในการลงทุน และเหมาะในการจัดตั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้า ดังนั้น กลุ่มไทคอนจึงได้เริ่มทำการศึกษาศักยภาพของทำเลยุทธศาสตร์ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนจนตัดสินใจซื้อที่ดิน 140 ไร่ในจังหวัดลำพูน เพื่อนำมาพัฒนาโครงการโลจิสติกส์พาร์ค TPARK ลำพูน ในปี 2557 เนื่องจากเป็นทำเลศักยภาพที่สามารถรองรับการเติบโตของโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) 1 และ 2 รวมถึงเป็นถนนสายหลักในการคมนาคมและกระจายสินค้าที่สะดวกและรวดเร็วครอบคลุมจังหวัดภาคเหนือ ซึ่งเหมาะสำหรับการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าทางภาคเหนือได้อย่างมีศักยภาพ ตลอดจนยังสะดวกต่อการกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ ลาว และตอนใต้ของประเทศจีน เป็นต้น
ทั้งนี้ กลุ่มไทคอนยังมีแผนการขยายการลงทุนด้านโรงงานและคลังสินค้าเพื่อการอุตสาหกรรมทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นอีก หากการตอบรับของลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการด้านโลจิสติกส์เป็นไปด้วยดี และมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าหากพิจารณาจากปัจจัยบวกในด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อย่างเต็มที่ของภาครัฐ และความร่วมมือในกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันนี้เราก็เห็นสัญญาณการเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นในพื้นที่จังหวัดลำพูนแห่งนี้แล้ว จึงมั่นใจว่า TPARK ลำพูนแห่งนี้จะเติบโตตามแผนการลงทุนของกลุ่มไทคอนอย่างแน่นอน”
ด้าน นายแทน จิตะพันธ์กุล ผู้จัดการทั่วไป TPARK หรือ บริษัท ไทคอน โลจิสติคส์ พาร์ค จำกัด กล่าวว่า “โครงการ TPARK ลำพูน ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้ดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2559 โดยใช้งบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท ในการพัฒนาโครงการบนพื้นที่ 140 ไร่ และตั้งเป้าจะสร้างคลังสินค้าพื้นที่รวม 97,860 ตารางเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2561 โดยจะมีคลังสินค้าคุณภาพสูงพร้อมใช้ ขนาดตั้งแต่ 840-2,291 ตารางเมตร โดยมุ่งเน้นลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่เป็นธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค โมเดิร์นเทรด สินค้า วัสดุก่อสร้าง และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่กำลังบูมในพื้นที่ภาคเหนือ โดยปัจจุบันมีลูกค้าเข้าเริ่มดำเนินงานภายในคลังสินค้าในโครงการ TPARK ลำพูน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีลูกค้าหลายรายให้ความสนใจเข้าชมโครงการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโครงการแห่งนี้อยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ด้านโลจิสติกส์ของหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคเหนือ รองรับการผลิตสินค้าของโรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งสินค้า
ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับจุดเด่นของโครงการ TPARK ลำพูน คือ ทำเลยุทธศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนทางหลวงไฮท์เวย์หมายเลข 11 สายเชียงใหม่-ลำปาง ตั้งอยู่ห่างจากถนนวงแหวนรอบ 3 ของจังหวัดเชียงใหม่เพียง 10 กิโลเมตร ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) 1 และ 2 และ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ (ลำพูน) รวมถึงโรงงานในบริเวณใกล้เคียง ยิ่งไปกว่านี้ ที่ตั้งโครงการอยู่ใกล้กับสนามบินเชียงใหม่ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้โครงการ TPARK ลำพูน เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าของธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์ ตลอดจนรองรับกิจกรรมของอุตสาหกรรมในภาคเหนือได้เป็นอย่างดี
จุดเด่นประการที่สอง คือ คลังสินค้าคุณภาพสูงพร้อมใช้ หรือ Ready Built Warehouses (RBWs) ซึ่งเป็นการพัฒนาคลังสินค้าล่วงหน้าไว้รองรับความต้องการของลูกค้า บริการนี้ถือเป็นจุดเด่นให้กับ TPARK โดยลูกค้าสามารถเลือกคลังสินค้าคุณภาพสูงที่มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งาน และเข้าดำเนินงานได้ทันที อีกทั้ง คลังสินค้าได้ถูกออกแบบโดยคำนึงถึงความเหมาะสมในการใช้งานเป็นหลัก และเน้นที่คุณภาพของการก่อสร้างอาคารให้ได้มาตรฐานระดับสากล นอกจากนี้ ยังจัดให้มีระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่จำเป็นภายในเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (Logistics Park) พร้อมจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำการโครงการเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าอย่างใกล้ชิด
“การขยายธุรกิจคลังสินค้าคุณภาพสูงพร้อมใช้ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย นอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจของบริษัทฯ ในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่กำลังขยายตัวไปยังภาคต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว TPARK ยังคาดหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการยกระดับการให้บริการด้านคลังสินค้าที่มีอยู่แล้วในแต่ละพื้นที่ไปสู่ระดับมาตรฐานสากลที่ทัดเทียมกับนานาประเทศ เช่นเดียวกับมาตรฐานคุณภาพคลังสินค้าและการให้บริการระดับ World Class ของ TPARK ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอีกทางหนึ่ง” นายแทน กล่าวสรุป