กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ไอแทป และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเวทีเสวนาเรื่อง "Thailand Food 4.0 จากแนวคิดสู่การประยุกต์ใช้ ก้าวอย่างไรให้ถึงปลายทาง" เพื่อยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรของประเทศในยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร อุตสาหกรรมเครื่องจักรและระบบอัตโนมัติ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 400 คน
ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ไอแทป สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 เป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อเป็นตัวเร่งให้ภาคอุตสาหกรรม เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วและมีทิศทางที่ถูกต้อง ที่ผ่านมาโปรแกรมไอแทป สวทช. เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยมีที่ปรึกษาเทคโนโลยีที่มีความรู้และประสบการณ์ และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่เข้มแข็ง คอยสนับสนุน และให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
นอกจากนั้นแล้ว ยังมีพันธมิตรอย่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ช่วยบูรณาการและผลักดันการส่งเสริม SME ของหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนให้ SME สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล โดยที่ผ่านมาร่วมกันสนับสนุนผู้ประกอบการมากกว่า 4,500 โครงการแล้ว อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมอาหาร ถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบทบาทและโอกาสในการเจริญเติบโตสูง ที่สำคัญยังช่วยสร้างรายได้และผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยและมีศักยภาพสูงที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ในอนาคตนอันใกล้นี้
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือบูรณาการของภาครัฐครั้งนี้ ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่สำคัญมาก ที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากการประกอบกิจการในยุคอุตสาหกรรม 4.0 นั้น ภาคอุตสาหกรรมต้องเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในประเทศ เช่น ปัญหาแรงงาน การเปลี่ยนแปลงราคาพลังงาน หรือปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น ความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก เป็นต้น นอกจากนั้น ปัจจุบันความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงไป การผลิตสินค้าจำนวนมาก (Mass Production) แบบที่เคยทำมานานนั้นเริ่มลดลง และถูกแทนที่ด้วยการผลิตสินค้าที่หลากหลายรูปแบบ อีกทั้งยังมีรูปแบบที่แตกต่างกันตามความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม นำมาซึ่งการแข่งขันที่เน้นความสะดวกรวดเร็วในการผลิตและบริการ ดังนั้นสิ่งที่อุตสาหกรรมต้องทำความเข้าใจและปรับตัวเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 4.0 คือการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ได้แก่ การยกระดับนวัตกรรมทั้งด้านการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งต้องสามารถเชื่อมโยงสู่ภายนอกทั้งกับตลาดในประเทศและต่างประเทศด้วย
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 มีความพร้อมที่จะร่วมกับโปรแกรม ไอแทป สวทช. เพื่อเป็นกลไกลภาครัฐช่วยยกระดับและเชื่อมโยงการบริการ เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรด้วยนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารของประเทศ มีความพร้อมและเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป