สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมกับบริษัท Haydale Graphene Industries จากประเทศอังกฤษ ลงนามความร่วมมือจัดตั้ง Haydale Technologies (Thailand) : HTT ศูนย์วิจัยกราฟีนแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ภายในอาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (INC2) ด้วยเชื่อมั่นในความพร้อมของบุคลากรวิจัย เครื่องมือต่างๆ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนา โดยมี ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และ Mr. Ray Gibbs, CEO of Haydale Graphene Industries Public Limited Company ร่วมลงนามในการเช่าพื้นที่เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัย HTT แล้ววันนี้ ภายในงานมีการเสวนาให้ความรู้เรื่อง “เทคโนโลยีวัสดุกราฟีนกับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในอนาคต” โดย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สวทช. ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์เนคเทค และ Mr. Ray Gibbs, CEO of Haydale ร่วมด้วยคุณคมกฤช สัจจาอนันตกุล กรรมการผู้จัดการ Haydale Technologies (Thailand) Company Limited (HTT) เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กล่าวว่า การที่ Haydale Graphene Industries Public Limited Company บริษัทจดทะเบียนจากตลาดหลักทรัพย์ของ London Stock Exchange เลือกตั้งศูนย์วิจัยในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และจะทำงานร่วมกับศูนย์ TOPIC และ สวทช. ซึ่งมีความพร้อมในด้านทีมวิจัยรวมไปถึงเครื่องมือวิจัยขั้นสูง การมีศูนย์ HTT ในประเทศไทยนับเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะนักวิจัยไทยจะได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยชั้นนำจากต่างประเทศ เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้และการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกันได้อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นในประเทศไทย เป็นการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้นในอนาคต และแน่นอนว่าจะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 ตามแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลต่อไป
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า กราฟีนเป็น “วัสดุมหัศจรรย์” สวทช. มองเห็นโอกาส และความสำคัญของกราฟีนมาตั้งแต่ตอนที่มีการค้นพบ จึงได้เริ่มทำวิจัยและพัฒนาเพื่อนำกราฟีนไปใช้งานในเชิงอุตสาหกรรมในรูปแบบต่างๆ มากว่า 5 ปีแล้ว และบางส่วนได้เริ่มมีการส่งต่อเทคโนโลยีให้แก่ภาคอุตสาหกรรม เช่น การสังเคราะห์กราฟีนด้วยเทคนิคเคมีไฟฟ้าเพื่อผลิตหมึกพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ตได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก โดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ผู้อำนวยการหน่วยปฏิบัติการวิจัยนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค
นอกจากการนำไฟฟ้าที่ดีแล้ว กราฟีนยังสามารถนำไปผสมเป็นวัสดุคอมโพสิตที่มีน้ำหนักเบาและมีความแข็งแรงสูง หรือคุณสมบัติการนำความร้อนที่ดีของกราฟีนสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานของของหลอดไฟส่องสว่างแบบ LED ได้อย่างมาก ความบางและการโค้งงอได้ของกราฟีนก็มีการนำไปผลิตเป็นจอภาพโค้งแบบ OLED ในเชิงพาณิชย์แล้ว และยังมีงานวิจัยอื่นๆ อีกมากที่เป็นที่สนใจของแวดวงการวิจัยและพัฒนาทั่วโลก เช่น งานวิจัยทางด้าน Supercapacitor ที่หากสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหาการประจุไฟฟ้าของรถยนต์ไฟฟ้าจากที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเป็นภายในเวลาไม่กี่วินาที หรือเสื้อผ้าอัจฉริยะ “Smart Textiles” ที่ประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์ตรวจวัดสุขภาพของผู้สวมใส่ สามารถส่งข้อมูลให้แพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคแบบอัตโนมัติและสามารถปรับอุณหภูมิ เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกาย
ปัจจุบัน สวทช. ได้มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ หรือ TOPIC ที่ชั้น 5 อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 ภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างทีมงานวิจัยภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมที่มีความสนใจในการพัฒนาและประยุกต์ใช้งานกราฟีนสำหรับอุตสาหกรรมทุกประเภท โดยทางศูนย์ฯ มีห้องปฏิบัติการและเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงรวมถึงทีมงานวิจัยที่พร้อมสำหรับการวิจัยประยุกต์ทั้งทางเคมี ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และทางชีวภาพ
ด้าน นายเรย์ กิบบ์ส (Mr. Ray Gibbs), CEO of Haydale Graphene Industries Public Limited Company กล่าวว่า “Haydale เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอังกฤษที่มีมูลค่าตลาด 30 ล้านยูโร (ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2559) โดยบริษัทมีความเชี่ยวชาญด้านกราฟีนมาแต่เริ่มแรกและต่อยอดไปยังวัสดุนาโนอื่นๆ ด้วยความมุ่งมั่นในการขยายตลาดสู่ภูมิภาคเอเชีย เพื่อรองรับอุตลาหกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีวัสดุกราฟีน ทำให้เป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง Haydale และอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยกราฟีน Haydale Technologies (Thailand) หรือ HTT ขึ้น
“Haydale เชื่อมั่นในความพร้อมของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยเฉพาะทีมวิจัยเนคเทค สวทช. ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องกราฟีนเป็นอย่างดี รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวก อุปกรณ์ทดสอบ และเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ที่ครบครัน ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นจุดแรกที่ทำให้บริษัทตัดสินใจเลือกตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาที่นี่ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าประเทศไทยและเอเชียมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและมีปริมาณของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดเป้าหมายของบริษัทจำนวนมาก เช่น สิ่งพิมพ์ รถยนต์ และคอมโพสิต”
สำหรับแผนการทำงานในระยะแรก ทีมนักวิจัยจาก HTT มีการทำงานร่วมกันกับทีมวิจัยของ ดร.อดิสร เพื่อพัฒนาและสร้างโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มวัสดุใหม่ๆ ที่เกิดจากการนำกราฟีนไปประยุกต์ใช้ อาทิ ซิลิกอนคาร์ไบด์ ที่จะมีคุณสมบัติที่ทนต่อการสึกหรอและอุณหภูมิที่สูง เหมาะสำหรับการทำตลาดในการกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต่อไป