เนื้อหาวันที่ : 2016-09-29 16:01:16 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1410 views

ไอเอฟเอส เผยทิศทางธุรกิจไตรมาสสี่ มุ่งเป้าเจาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม นำระบบอีอาร์พีหนุนไทยแลนด์ 4.0

ไอเอฟเอส เผยไตรมาสสี่มุ่งนำระบบอีอาร์พี หนุนกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเตรียมความพร้อมสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น รองรับไทยแลนด์ 4.0 และก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 พร้อมตั้งเป้าโตไม่ต่ำกว่า 10%

นายศรีดาราน อรูมูแกม รองประธาน ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  บริษัท ไอเอฟเอส ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับองค์กรชั้นนำระดับโลก จากประเทศสวีเดน กล่าวถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ว่า ไตรมาสที่สี่ของปีนี้ ไอเอฟเอสจะมุ่งลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยคาดว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นมากที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและก้าวไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ โดยเน้นให้ความสำคัญใน 4 กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมหลักได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ (Automotive), อุตสาหกรรมการผลิต (Industrial Manufacturing), อุตสาหกรรมด้านอากาศยาน และยุทโธปกรณ์การรบ (Aerospace & Defense) และอุตสาหกรรมด้านพลังงานและสาธารณูปโภค (Energy & Utilities) นอกจากนี้บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าอื่น ๆ อาทิเช่น อุตสาหกรรมการให้บริการ (Service Provider) ค้าปลีก การจัดการสินทรัพย์ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ รวมทั้งอุตสาหกรรมการก่อสร้าง โดยไอเอฟเอส มีแผนขยายพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญโซลูชั่นสำหรับลูกค้าญี่ปุ่นโดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ และการขยายตลาดในประเทศเมียนมาร์และกัมพูชา โดยคาดว่า บริษัท ไอเอฟเอสในประเทศไทย จะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ในปีนี้ โดยมีปัจจัยบวกจากความต้องการของลูกค้า ที่ต้องการระบบที่ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ใช้งานง่าย สะดวกสบาย มีความยืดหยุ่นและมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้อุตสาหกรรมควรเตรียมความพร้อมสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 โดยบริษัทฯ จะเข้าไปช่วยปรับปรุง และเสริมประสิทธิภาพด้วยการนำ ระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร หรือ อีอาร์พี ที่ครอบคลุมการใช้งานอย่างครบวงจร และที่สำคัญมีความคล่องตัวในการใช้งานผ่านเดสก์ทอป แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน นอกจากนั้นยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงแนวโน้มและเชื่อมโยงกับระบบคลาวด์ ซึ่งสามารถดูข้อมูลแบบเรียลไทม์ ด้วยโซลูชั่นของอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือ ไอโอที

สอดคล้องกับผลสำรวจจากไอดีซี ที่คาดการณ์ว่า จุดติดตั้งอุปกรณ์ปลายทางของไอโอที (IoT) จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 13,000 ล้านชุดในปลายปี 2559 จนถึง 30,000 ล้านชุดในปี 2563 และอุตสาหกรรมที่ไอดีซีคาดการณ์ว่าจะมีการใช้จ่ายงบประมาณไปกับโซลูชันไอโอที (IoT) มากที่สุด คืออุตสาหกรรมด้านการผลิต การขนส่ง พลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงร้านค้าปลีกที่มีรูปแบบการใช้งาน ไอโอที (IoT) อย่างครอบคลุม

“เรากำลังก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า จะเป็นการบูรณาการโลกของการผลิตเข้ากับการเชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือไอโอที ทุกหน่วยของระบบการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์หน่วยต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกติดตั้งระบบเครือข่ายเพื่อให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันอย่างอิสระเพื่อการจัดการกระบวนการผลิตทั้งหมดจะสามารถผลิตของหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละรายเป็นจำนวนมากในเวลาพริบตาเดียว โดยใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร แบบสมาร์ท แฟคตอรี่”

ตลาดอีอาร์พีในประเทศไทยนั้นยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลไทยกำลังผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เศรษฐกิจอยู่บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ซึ่งต้องอาศัยการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยการ์ทเนอร์ได้คาดการณ์การเติบโตของตลาดอีอาร์พีในประเทศไทย ว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 14.91 % ระหว่างปี 2559–2563

นายศรีดาราน กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มการบินและอากาศยาน เป็นตลาดหลักของบริษัท ไอเอฟเอส ทั่วโลก โดยในเดือนตุลาคมนี้ ทางบริษัทฯ ได้เข้าร่วมงาน แอร์ไลน์ แอนด์ แอโรสเปซ เอ็มอาร์โอ แอนด์ ไฟลท์ โอเปอเรชั่นส์ ไอที คอนเฟอเรนซ์ (Airline & Aerospace MRO & Flight Operations IT Conference) ที่จัดขึ้นโดยแอร์คราฟท์ คอมเมิร์ซ (Aircraft Commerce) ที่จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นงานประชุมระดับโลกด้านไอทีของกลุ่มการบินและอากาศยานเพียงงานเดียว ที่เกี่ยวกับการพัฒนาด้านไอทีและการบริหารจัดการและการซ่อมบำรุงด้านการบิน

ไอเอฟเอส เป็นบริษัทผู้นำที่ได้รับการยอมรับในแวดวงอุตสาหกรรมไอทีในการผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจชั้นนำระดับโลกด้านการวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) การบริหารจัดการสินทรัพย์ขององค์กร (EAM) และ การบริหารจัดการงานบริการขององค์กร (ESM) ปัจจุบันไอเอฟเอสมีสำนักงานครอบคลุมอยู่ใน 50 ประเทศทั่วโลก มีจำนวนพนักงานมากกว่า 2,800 คน ลูกค้ามากกว่า 2,400 รายให้ความไว้วางใจ และมีผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ไอเอฟเอสมากกว่า 1 ล้านคน โดยในปีที่ผ่านมา (2015) ไอเอฟเอสมีรายได้รวมจากทั่วโลกมูลค่า 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนกลุ่มลูกค้าของไอเอฟเอฟในประเทศไทยปัจจุบัน กระจายอยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมการผลิต มีสัดส่วนสูงสุดที่ประมาณ 60-70% ส่วนที่เหลือมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ