เนื้อหาวันที่ : 2007-08-23 17:03:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1745 views

ซีเอ จับมือ ดีลอยท์ ที่ปรึกษาไอทีระดับโลกเสริมแกร่งธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก

ดีลอยท์ ในฐานะบริษัทผู้ให้บริการที่ปรึกษาระบบไอทีมืออาชีพระดับชั้นนำของโลก จับมือร่วมเป็นพันธมิตรกับ ซีเอ ซึ่งเป็นผู้นำด้านซอฟต์แวร์บริหารจัดการระบบไอที ในลักษณะที่เรียกว่า "Preferred Alliance" เป็นครั้งแรกในภูมิภาคนี้

.

จากรูป: (ภาพจากซ้าย) นายวีระพงษ์  กฤษดาวัฒน์ หุ้นส่วนและผู้บริหารหน่วยงาน  Enterprise Risk Services ของดีลอยด์,  นายปิติ ประโมทย์ธรรม  หุ้นส่วนของดีลอยท์, นายเบรนตัน สมิธ  กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ของ ซีเอ และนายธนาวุฒิ  ศุขเอนก  ผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน ของซีเอ

 

.

ความร่วมมือเพื่อขยายศักยภาพของดีลอยท์และซีเอในครั้งนี้จะช่วยให้องค์กรในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากความซับซ้อนของระบบ รวมถึงขอบเขตและระดับขั้นของกฎระเบียบข้อบังคับที่นับวันจะทวีคูณขึ้น

.

ดีลอยท์ ในฐานะบริษัทผู้ให้บริการที่ปรึกษาระบบไอทีมืออาชีพระดับชั้นนำของโลก จับมือร่วมเป็นพันธมิตรกับ ซีเอ ซึ่งเป็นผู้นำด้านซอฟต์แวร์บริหารจัดการระบบไอที ในลักษณะที่เรียกว่า "Preferred Alliance" เป็นครั้งแรกในภูมิภาคนี้

.

ด้วยรูปแบบของการบริหารจัดการความเสี่ยงในปัจจุบันถูกกำหนดกรอบด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี  ความเป็นยุคโลกาภิวัตน์ รวมทั้งกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่ซับซ้อน และความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้บริหารระดับสูงและคณะกรรมการบริหารขณะที่ความเสี่ยงในยุคอีบิสซิเนสนั้นมีตั้งแต่เรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมและการค้าบนอินเทอร์เน็ตจนถึงความเป็นส่วนตัวของลูกค้า ซึ่งในขณะนี้องค์กรต่าง ๆ กำลังมีความต้องการที่จะทำระบบให้มีประสิทธิภาพและรัดกุมยิ่งขึ้น

.

ความร่วมมือระหว่างดีลอยท์กับซีเอ จึงเป็นคำตอบที่ลงตัวที่สุดสำหรับ CFO และ CIO ทั้งหลายที่กำลังมองหาไอทีโซลูชันที่สามารถตอบโจทย์ด้านบริหารจัดการที่ดี การบริหารจัดการความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานสากลได้อย่างครบถ้วน 

.

การจับมือเป็นคู่พันธมิตรในครั้งนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่ดีลอยท์และซีเอ ได้ทุ่มเทพัฒนาขีดความสามารถอันโดดเด่นในด้านต่างๆ อันได้แก่ การบริหารจัดการความเสี่ยง ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทางธุรกิจ การบริหารโครงการ คุณลักษณะของเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือและระเบียบวิธีต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพน่าเชื่อถือ

.

มร. เบรนตัน  สมิธ กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเซียใต้ ของซีเอ กล่าวว่า "ประโยชน์ที่ได้จากความร่วมมือดังกล่าว คือ การผสานพลังของสองผู้เชี่ยวชาญสูงสุด ในส่วนของผู้ให้บริการด้านโพรเฟสชันนัลเซอร์วิส และในส่วนบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกสำหรับองค์กร จะช่วยแก้ไขปัญหาความยุ่งยากทั้งหลายที่ธุรกิจข้ามชาติและองค์กรต่างๆ กำลังประสบอยู่ ซึ่งมั่นใจได้ว่าการผสานความร่วมมือครั้งนี้จะสามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทั้ง CFO และ CIO  ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ได้เป็นอย่างดี"

.

เขากล่าวเสริมว่า "การจับคู่เป็นพันธมิตรในลักษณะนี้ถือเป็นคู่แรกในเอเชีย แปซิฟิก และอาจจะกลายเป็นแม่แบบในอุตสาหกรรมนี้ได้ในอนาคต เพราะเป็นการผสานความยอดเยี่ยมทั้งในด้านโซลูชัน และการบริการเพื่อลูกค้าที่กำลังประสบกับปัญหาความยุ่งยากซับซ้อนของระบบไอทีและมีความต้องการทางด้านไอทีที่เพิ่มมากขึ้น"

.

นายธนาวุฒิ ศุขเอนก ผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน ของซีเอ กล่าวว่า  "การบริหารจัดการที่ดี การบริหารจัดการความเสี่ยง และการปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานสากล เป็นเรื่องที่องค์กรและบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย ที่ต้องการขยายธุรกิจไปสู่ระดับสากลหรือดำเนินธุรกิจกับต่างชาติล้วนให้ความสำคัญกันมากขึ้น   ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจต้องการการดำเนินงานที่โปร่งใสและสามารถควบคุมได้  ซึ่งระบบไอทีขององค์กรที่มีการบริหารจัดการที่ดีเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่จะทำให้สามารถตอบสนองความต้องการนั้นได้"

 .

ตามข้อตกลงความร่วมมือ หน่วยงาน Enterprise Risk Services ของดีลอยท์ จะเป็นผู้จัดหาโซลูชันด้านการบริหารจัดการที่ดี (Governance) การบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk management) และการปฏิบัติและควบคุมให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ รวมถึงตามกฎระเบียบข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานสากล (Compliance) หรือที่เรียกรวมเรียกว่า GRC ให้กับองค์กรขนาดใหญ่ โดยซอฟต์แวร์ต่างๆ ของซีเอจะเป็นองค์ประกอบด้านไอทีของโซลูชันนี้ และทีมที่ปรึกษาจากดีลอยท์จะผนวกความเชี่ยวชาญและความรู้ความสามารถในโซลูชันการบริหารจัดการระบบไอทีของซีเอเพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถควบคุม จัดการ และสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับระบบไอทีขององค์กร

.

การผสาน GRC เฟรมเวิรก์ของดีลอยท์ เข้ากับเทคโนโลยีโซลูชันของซีเอ ทำให้เกิดทีมผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ทั่วทั้งองค์กร ไม่ว่าจะเป็นในระดับหน่วยธุรกิจ กระบวนการ เทคโนโลยี หรือในระดับข้อมูล เช่นเดียวกับความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ   เช่น ด้านกลยุทธ์ กฎระเบียบ/เงื่อนไขของสัญญา เทคนิค การเงิน/เศรษฐกิจ และการดำเนินงาน 

.

คุณวีระพงษ์ กฤษดาวัฒน์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นหุ้นส่วน (Partner) และผู้บริหารหน่วยงาน Enterprise Risk Services ของดีลอยท์ ทุช โทมัทสุ กล่าวว่า "ทีม GRC ของดีลอยท์ เปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการความเสี่ยงของลูกค้าเราให้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยให้ไม่เกิดปัญหาหรือความผิดพลาดที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ในขณะที่ซีเอเป็นพันธมิตรเชิง  กลยุทธ์ของเราในด้านเทคโนโลยีที่สนับสนุนให้เราสามารถนำเสนอการบริหารการจัดการความเสี่ยงให้แก่ลูกค้าของเราได้อย่างสมบูรณ์แบบ"

.

การตัดสินใจขยายขอบข่ายความร่วมมือในฐานะพันธมิตรระหว่างดีลอยท์กับซีเอทั่วทั้งตลาดเอเชีย แปซิฟิกนั้น นับเป็นอีกก้าวย่างจากความสำเร็จในความร่วมมือกว่า  2 ปี ที่เริ่มต้นขึ้นในประเทศสิงคโปร์  โดยนอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีแผนที่จะขยายความร่วมมือลักษณะนี้ให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตอนใต้ต่อไป  ซึ่งรวมถึง มาเลเซีย และอินเดีย ต่อเนื่องไปจนถึงจีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

.

โดยได้เริ่มต้นเจรจาไปแล้วในญี่ปุ่น แผนการดังกล่าวประกอบด้วย การทำตลาดระบบไอทีเพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน ตลอดจนมีโครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญร่วมกัน ซึ่งขณะนี้มีทีมที่ได้รับใบรับรองพิเศษในฐานะที่ปรึกษาดีลอยท์/ซีเอ แล้วถึง 15 คน โดยดีลอยท์ตั้งเป้าไว้ว่าจะฝึกอบรมให้ได้ถึง 100 คน ในอีก  24 เดือนข้างหน้า เพื่อสนองนโยบายความร่วมมือครั้งนี้ทั่วทั้งภูมิภาค