เนื้อหาวันที่ : 2006-05-30 14:37:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1716 views

ฝรั่งเศสจับมือไทยถกการออกแบบอาคารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ชมรมส่งเสริมเทคโนโลยีฝรั่งเศส ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส(ฝ่ายเศรษฐกิจ) ประจำประเทศไทยได้จัดงานสนทนาอาหารกลางวันในหัวข้อ ฝรั่งเศส-ไทยกับการออกแบบอาคารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ชมรมส่งเสริมเทคโนโลยีฝรั่งเศส หรือ อัคติมแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส(ฝ่ายเศรษฐกิจ) ประจำประเทศไทยได้จัดงานสนทนาอาหารกลางวันในหัวข้อ ฝรั่งเศส-ไทยกับการออกแบบอาคารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย มร. โจฮานน์ ซิงกิเบิล ผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมคุณภาพสูง จากศูนย์เทคนิคและวิทยาการเพื่ออาคารแห่งประเทศฝรั่งเศส (French Center for Scientific and Technical Building Research : CSTB) และ รองศาสตราจารย์ ดร. วรสัณฑ์ บูรณาการ อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร

 

มร. ซิงกิเบิลได้บรรยายในหัวข้อ อาคารสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศฝรั่งเศส-วัสดุก่อสร้างเพื่อสิ่งแวดล้อมคุณภาพสูง : วิธีและทางออกที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้  CSTB มีหน้าที่ตรวจสอบอุปกรณ์ต่างที่ใช้ในงานก่อสร้าง ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะก่อให้เกิดการอนุรักษ์ได้ และให้คำปรึกษาในเรื่องพลังงานกับโครงการต่าง ๆ มากมายทั่วโลก  CSTB มีส่วนสำคัญในด้านการพัฒนาและวิจัยทางเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาและออกกฏระเบียบมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอาคาร อาทิ ประกาศนียบัตร HEQ  ในการออกแบบอาคาร เราต้องมุ่งเน้นทางด้านพลังงานด้วย

 

ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงความสะดวกสบายที่ผู้อยู่อาศัยจะได้รับ เกณฑ์ที่ใช้ตัดสินในการให้ประกาศสำหรับ Green building เราได้ตั้งไว้ 14 ข้อด้วยกัน ประกอบด้วย เรื่องมุมมอง  แสง ความชื้น ระบบนิเวศ  สุขอนามัย เป็นต้น   และที่สำคัญ เจ้าของนั้นต้องให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นด้วย ดังนั้น 14 ข้อกฎที่เราตั้งขึ้นนั้น 3 ประการจะต้องอยู่ในขั้นดีมาก 4 ประการต้องดี และอีก 7 ประการต้องอยู่ในมาตรฐานที่รับรอง ตัวอย่าง เช่น อาคาร Town hall Muraux   ในฝรั่งเศส  สอดคล้องกับข้อกำหนดทั้ง 14 ประการดี   การที่เราจะสร้างได้นั้นก็จำเป็นต้องมี HEQ แต่ตอนนี้ยังมีราคาค่อนค้างที่จะสูง  ดังนั้นรัฐบาลฝรั่งเศส ได้มีแรงจูงใจในเรื่องการสร้างอาคารประหยัดพลังงาน เช่น การลดภาษีและการให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ มากมายแก่เจ้าของอาคารเพื่อให้คุ้มค่ากับการลงทุน มร. ซิงกิเบิล กล่าว

 

จากนั้น อาจารย์ วรสัณฑ์ บูรณาการได้บรรยายในหัวข้อ การออกแบบอาคารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ปรัชญาการออกแบบที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องการของมนุษย์ ได้แก่ การระบายอากาศ แสง เสียง ทัศนวิสัย ความปลอดภัยและการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและประหยัดพลังงาน บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ (Bio-Solar Home) เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำและพลังงานหมุนเวียน (มวลชีวภาพ การนำน้ำเสียมาบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่) อีกทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม