เนื้อหาวันที่ : 2016-08-30 14:16:51 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1313 views

ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ผนึกพันธมิตร วิซอาร์ที รุกธุรกิจสื่อและบันเทิงแบบครบวงจร

บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ พีทีอี ลิมิเต็ด ประกาศความร่วมมือกับ บริษัท วิซอาร์ที (ประเทศไทย) จำกัด (Vizrt) ผู้นำด้านเทคโนโลยีซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจสื่อและบันเทิงระดับโลก โดดเด่นด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจสื่อและบันเทิง เชื่อมั่นเทคโนโลยีการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูล คอนเทนต์ ไฟล์ และมีเดีย (Media Asset Management-MAM) จากวิซอาร์ที และระบบโครงสร้างสารสนเทศพื้นฐานของฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ จะช่วยผู้ประกอบการปรับแพลตฟอร์มให้มีระบบออกอากาศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดร.มารุต มณีสถิตย์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย และพม่า บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ พีทีอี ลิมิเต็ด (HDS) เปิดเผยว่า ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ (HDS) ได้ร่วมกับ วิซอาร์ที (Vizrt) ในการพัฒนาโซลูชั่นสำหรับธุรกิจสื่อและบันเทิงร่วมกัน  เพื่อตอบสนองความต้องการอันท้าทายของธุรกิจนี้ในประเทศไทย จากการที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาธุรกิจสื่อในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก หลังจากที่กสทช.เปิดช่องทีวีดิจิทัลให้เอกชนได้เข้ามาแข่งขันอย่างเสรี ทำให้การนำเสนอคอนเทนต์มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าความรวดเร็วในการนำเสนอและความพร้อมของเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คอนเทนต์ของช่องมีความน่าสนใจ เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในการรับรู้ข่าวสารที่แตกต่างไปจากสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งกระบวนการการจัดการคอนเทนต์เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ดังนั้นธุรกิจผลิตสื่อโทรทัศน์ของไทย จึงมีความต้องการนำระบบไอทีมาช่วยสร้างสรรค์สื่อในขั้นตอนการผลิตเพื่อให้สามารถเร่งนำเสนอผลงานออกมาได้รวดเร็ว มีความน่าสนใจ หลากหลาย และมีคุณภาพ     

ทั้งนี้ HDS และ Vizrt ตระหนักถึงขั้นตอนการผลิตสื่อและการบันเทิง ตั้งแต่การรวบรวมคอนเทนต์ (Capture Content) จากอุปกรณ์ต่าง ๆ และจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลก การผลิตหลังการถ่ายทำ (Post Production) ที่ต้องมีการแก้ไข ตัดต่อ มิกซ์เสียง ใส่แสงสี เลย์เอาท์ กราฟิก เรนเดอร์ (rendering) แอนิเมชั่น รวมถึงสเปเชียลเอฟเฟกต์ ต่างๆ การถ่ายโอนไฟล์ (Transcoding) จาก format หนึ่งไปอีก format เพื่อให้สอดคล้องกับแอปพลิเคชั่นในอุปกรณ์ต่างๆ และสุดท้าย การถ่ายทอด เผยแพร่ข้อมูล (Distribution Delivery)  ด้วยแพลตฟอร์มที่แตกต่าง ระบบต้องมีความสามารถในการถ่ายโอนไฟล์ และส่งมอบไปยังแพลตฟอร์มที่มีความหลากหลายทั้ง codex,   ขนาด, ชนิดของไฟล์ ได้อย่างรวดเร็ว  ดังนั้นการบริหารจัดการคอนเทนต์ และไฟล์ต่างๆ (Media Asset Management - MAM) จึงเป็นเรื่องสำคัญและมีความซับซ้อน เพราะขั้นตอนต่างๆ เปรียบเหมือนเส้นเลือดเชื่อมต่อทางธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ด้านคุณภาพ แต่ในเรื่องของเวลาเผยแพร่ออกไปสู่กลุ่มผู้ชมให้ทันเวลาอีกด้วย

ดร.มารุต กล่าวต่อว่า ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ มีความพร้อมด้านโครงสร้างสารสนเทศพื้นฐาน ที่สามารถตอบสนองความต้องการของธุรกิจสื่อและบันเทิงได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งระบบเซิร์ฟเวอร์  สตอเรจ ที่พร้อมทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ Vizrt Viz One และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเริ่มต้นจากโซลูชั่น Unified Compute Platform สำหรับระบบงาน Workflow หลัก และโซลูชั่น Hyper-Scale-Out Platform สำหรับระบบงาน Workflow รอง ซึ่งทั้งสองโซลูชั่นนี้จะมี Hitachi Unified Storage และ Hitachi NAS Platform ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ Workflow ด้วยเทคโนโลยี Field Programmable Gate Array (FPGA) ซึ่งเป็นระบบสถาปัตยกรรมแบบคุณภาพสูง ด้วยอัตราการรับส่งข้อมูลกว่า 1.2 ล้าน IOPs รองรับการขยายพื้นที่ได้ถึง 32PB รวมไปถึงสนันสนุนไฟล์ Media ที่มีขนาดใหญ่มากๆ ในการตัดต่อ ทำให้มี Throughput การทำงานที่ดีขึ้น เพิ่มความสามารถในการเรนเดอร์ภาพ ลดภาระงานที่คั่งค้าง ส่งผลให้ลดเวลาการถ่ายแปลงไฟล์ในระบบ ตลอดจนใช้ระยะเวลาในการถ่ายโอนไฟล์น้อยลงด้วย เมื่อเทียบกับเวนเดอร์รายอื่นๆ นอกเหนือจากโซลูชั่นสำหรับงาน Workflow แล้ว  HDS ยังมีโซลูชั่น Hitachi Content Platform สำหรับงานจัดเก็บข้อมูลและการค้นหาข้อมูล Media ในระยะยาว (Archive) โดยที่ Hitachi Content Platform จะเป็นโซลูชั่น Object Storage ที่เพิ่งได้รับคะแนนอันดับ 1 ในกลุ่มผลิตภัณฑ์แบ็คอัพแห่งปี 2016 จากทางการ์ทเนอร์ ที่จะช่วยให้องค์กรสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บข้อมูลแบบระยะยาว โดยไม่ต้องใช้ระบบเทป อีกทั้งมีความสามารถในการบริหารจัดแบ่งพื้นที่การใช้งาน (Multi-tenancy) ภายใต้ระบบบนแพลตฟอร์มเดียวกัน ส่งผลให้เกิดความสะดวกสบายในภารบริหารจัดการภาพรวมของระบบอีกด้วย

ด้าน นางสาวยุพาพักตร์ ตะวันนา กรรมการบริหาร/ผู้อำนวยการภูมิภาค บริษัท วิซอาร์ที (ประเทศไทย) จำกัด หรือ (Vizrt) กล่าวว่า Vizrt ได้มองเห็นโอกาสจากแนวโน้มของธุรกิจสื่อและบันเทิงในประเทศไทย ที่มีความท้าทายใหม่ ๆ ในการผลิตสื่อ ซึ่งเป็นผลมาจากทีวีดิจิทัล ทำให้ผู้ชมมีทางเลือกในการรับชมรายการมากขึ้น ดังนั้นการแข่งขันในเรื่องของคอนเทนต์ จึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจสื่อให้ความสำคัญและด้วยความพร้อมและความเชี่ยวชาญของ Vizrt ในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับโลก เพื่อตอบโจทย์สำหรับธุรกิจสื่อและบันเทิงแบบครบวงจร จึงต้องการพาร์ทเนอร์ที่มีศักยภาพอย่าง ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ที่จะช่วยในเรื่องของโครงสร้างระบบมาช่วยสนับสนุนโซลูชั่นการทำงานให้มีความพร้อมที่สุด

Vizrt ได้รับการยอมรับในมาตรฐานระดับสากลสำหรับธุรกิจประเภทสื่อและบันเทิงทั่วโลก อาทิ CNN, NBC (อีกหนึ่งสถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา) BBC ประเทศอังกฤษ, Al Jazeera, Sky News, The Weather Channel (USA), Red bull Media Network, NFL Media และอีกหลายสื่อชั้นนำ สำหรับในประเทศไทย อาทิ ช่อง 3, ททบ 5, ช่อง 7, ไทยพีบีเอส, ไทยรัฐทีวี, นิวทีวี (new tv), วอยซ์ทีวี, Now26, มติชน และมีเดีย สตูดิโอ เป็นต้น  ทำให้สร้างความมั่นใจให้กับธุรกิจสื่อและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ในประเทศไทยได้ว่าเทคโนโลยีของ Vizrt จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจนี้ได้อย่างแน่นอน ซึ่งในประเทศไทยนั้น Vizrt  มี 3 โซลูชั่นหลัก ที่ต้องการนำเสนอ ได้แก่ 

1) Advanced Realtime Graphic Visualization สำหรับการถ่ายทำรายการที่ต้องมีการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ให้แก่ผู้ชม และเพิ่มความน่าสนใจได้ด้วยการนำเทคโนโลยี 3D เข้ามาแทรกในรายการ เทคโนโลยีของ Vizrt  สามารถแสดงผลกราฟ, ตารางข้อมูล, การจำลองเหตุการณ์ สามารถทำได้ในห้องส่งและดูสมจริง ในขณะที่รายการต้องการลดต้นทุน เพิ่มความตื่นเต้น สร้างความตื่นตาตื่นใจในการผลิตและนำเสนอรายการต่อผู้ชมทางบ้านให้อยู่ติดหน้าจอโทรทัศน์ ช่วยสร้างกระแสเรตติ้ง และช่วยเพิ่มรายได้จากค่าโฆษณาได้อย่างมากมาย นอกจากนี้ยังมีโซลูชั่นห้องส่งเสมือนหรือ 3D Virtual Studio เพื่อทำการปรับเปลี่ยนฉากและรายละเอียดของห้องส่งเสมือน เพื่อลดต้นทุนการดูแลห้องได้เป็นอย่างดี

 2)  Media Asset Management (MAM) อีกหนึ่งระบบที่ทำหน้าที่เก็บรักษาคอนเทนต์ ที่ช่องและสตูดิโอทำการผลิตขึ้นมาให้ปลอดภัยและทนทาน ให้สามารถนำมาใช้งานได้เป็นระยะเวลานาน, เข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว และมีความปลอดภัย เพราะคอนเทนต์ถือเป็นทรัพย์สินหลักของธุรกิจสื่อและบันเทิง วิธีการในการจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่หลายๆ องค์กรเลือกให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ  โดยปัจจุบันระบบ Viz One สามารถตอบโจทย์ และพัฒนา Product ใหม่ล่าสุด สำหรับการออกอากาศสู่ช่องทาง New Media/OTT ในชื่อเทคโนโลยี Viz Story  ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตสื่อที่สมบูรณ์แบบ(Complete Workflow)  ของทั้งสถานีโทรทัศน์ ที่จะช่วยในการบริหารรายได้เพิ่มอย่างมหาศาลให้กับสถานีฯ จากช่องทางดังกล่าวด้วย

3) ระบบ Studio Automation (Viz Mosart / Viz Opus) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยสนับสนุนการทำงานในห้องสตูดิโอ (Live and News production) ให้มีความถูกต้องแม่นยำ และบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ของ Modern Studio Workflow ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในสถานีโทรทัศน์ทั่วโลก  

Vizrt มีทีมงานสนับสนุนด้านเทคโนโลยีที่เป็นผู้เชี่ยวชาญคนไทย จึงสามารถช่วยดูแลและให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทีมซับพอร์ตของบริษัทมีอยู่ราว 30 ราย เป็นทีม Product Specialists ทั้งทีมชาวไทยและทีมชาวต่างชาติที่ประจำอยู่ในเมืองไทย นอกจากนี้บริษัทยังมีทีมวิจัยและพัฒนาอีก 30 รายคอยสนับสนุนการทำงานอีกด้วย

“โซลูชั่นของ Vizrt และ HDS ถือเป็นแนวทางเชิงรุกในกลยุทธ์การบริหารจัดการข้อมูล คอนเทนต์ ไฟล์ และมีเดีย ที่สมบูรณ์แบบ สามารถตอบโจทย์ความท้าทายของลูกค้าธุรกิจสื่อและบันเทิงให้สามารถแข่งขันทางการตลาดในภูมิภาคและก้าวทันกับเทคโนโลยีสื่อทั่วโลก และตอบสนอง สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ชมในยุคดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น” ดร.มารุต กล่าวทิ้งท้าย