เนื้อหาวันที่ : 2016-08-17 09:51:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1374 views

หารือการปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2560

พล.อ.ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือกับผู้บริหาร 5 องค์กรหลัก และหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด (กศน.,สช.) รวมทั้งคณะวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

เมื่อวันอังคารที่ 16 สิงหาคม 2559 ณ ห้องประชุม MOC กระทรวงศึกษาธิการ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สพฐ. และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มานำเสนอและหารือเกี่ยวกับรายงานผลการวิจัยค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐานใน 2 เรื่องหลัก คือ ด้านความจำเป็นพื้นฐานของผู้เรียน และด้านความจำเป็นเพิ่มเติมของนักเรียนพิการเรียนร่วมและด้อยโอกาส

1. ด้านความจำเป็นพื้นฐานของผู้เรียน

ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ได้รับค่าใช้จ่ายรายหัว 7 ด้าน คือ 1) ค่าจัดการเรียนการสอน (รวมค่าไฟฟ้าและสาธารณูปโภค) 2) ค่าหนังสือเรียนเฉลี่ยแต่ละระดับ 3) ค่าเครื่องแบบนักเรียน 4) ค่าอุปกรณ์การเรียน 5) ค่ากิจกรรมการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 6Top-up ปัจจัยยากจน 7) Top-up โรงเรียนขนาดเล็ก

สำหรับรายการในส่วนแรก คือ "เงินอุดหนุนค่าจัดการเรียนการสอน" ที่ผ่านมา สพฐ.ได้กำหนดระเบียบให้ใช้ไว้กว้างขวางมาก ทำให้โรงเรียนนำเงินไปใช้จ่ายปะปนกันเป็นค่าสาธารณูปโภคและค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าเครื่องปรับอากาศ คอมพิวเตอร์ ค่าขยะ ค่าจัดต้นไม้ ฯลฯ จึงขอให้ สพฐ.จัดหมวดหมู่ค่าจัดการเรียนการสอนให้ชัดเจน ไม่ควรนำงบค่าบริหารจัดการโรงเรียนกับงบการเรียนการสอนไปปนกัน โดยแยกเงินส่วนค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ฯลฯ ออกไปจากส่วนนี้ เพื่อให้ค่าจัดการเรียนการสอนเป็นเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับเด็กอย่างแท้จริง ไม่นำไปใช้ผิดประเภท

อย่างไรก็ตาม สพฐ.มีกติกาว่าเงินค่าสาธารณูปโภคจะใช้ได้ไม่เกิน 5% ของเงินอุดหนุนค่าจัดการเรียนการสอน แต่ข้อเท็จจริงพบว่าใช้เกิน จึงขอให้ สพฐ. ไปหารือกับผู้บริหารโรงเรียนถึงสัดส่วนในการจัดหมวดหมู่การใช้งบประมาณที่เหมาะสม และนำผลวิจัยมาหาตัวเลขที่เหมาะสมว่าโรงเรียนขนาดต่างๆ ควรมีห้องเรียนอะไรบ้างหรือต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง เพราะผลวิจัยพบว่าต้องสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้เป็นค่าสาธารณูปโภคต่างๆจำนวนประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่กระทรวงศึกษาธิการจะพยายามไม่ของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล แต่จะเน้นไปที่การบริหารจัดการให้เหลืองบประมาณเพียงพอก่อนเป็นลำดับแรก เช่น จะมีการปรับรูปแบบการอบรมสัมมนาในปีงบประมาณ 2560 ให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เป็นผู้จัดมากขึ้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเข้ารับการอบรมที่ส่วนกลางน้อยลง อันจะส่งผลให้งบประมาณเหลือมากขึ้น สามารถนำไปใช้จ่ายเป็นค่าอุดหนุนเพิ่มเติมดังกล่าวได้

2. ด้านความจำเป็นเพิ่มเติมของนักเรียนพิการเรียนร่วมและด้อยโอกาส

ที่ผ่านมารัฐไม่ได้อุดหนุนสำหรับนักเรียนในส่วนนี้เป็นพิเศษมาก่อน แต่กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าควรจะต้องให้การอุดหนุนเงินรายหัวเพิ่มสำหรับนักเรียนพิการเรียนร่วม 337,000 คน และด้อยโอกาส 203,000 คน ซึ่งรายงานวิจัยได้เสนอให้รัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับครูพี่เลี้ยงและค่าวัสดุ/สื่อการเรียนการสอน จำนวน 196 ล้านบาท โดยจะขอนำไปหารือกับกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ สพฐ. ซึ่งปัจจุบันกองทุนดังกล่าวได้รับเงินจัดสรรจากรัฐปีละ 150 ล้านบาท คาดว่าจะจัดสรรเงินอุดหนุนให้เด็กกลุ่มนี้ได้ทันภายในปีงบประมาณ 2560 เช่นกัน