นักวิจัย มจธ. ร่วมมือกองพิสูจน์หลักฐาน ต่อยอดต้นแบบนวัตกรรมเครื่องตรวจหารอยนิ้วมือแฝงสำหรับการพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรม สู่การใช้งานจริงได้สำเร็จ ถือเป็นนวัตกรรมราคาประหยัดจากนักวิจัยไทยที่มีประสิทธิภาพล้ำหน้าเครื่องมือนำเข้าราคาแพง
ปัญหายาเสพติด ทำร้ายร่างกาย ปล้นทรัพย์ ข่มขืน ปัญหาอาชญากรรมเหล่านี้เกิดขึ้นแทบทุกวัน และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวจากเหตุการณ์เหล่านี้มีผลต่อความเชื่อมั่นทั้งจากในและต่างประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ
ผศ.ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงได้พัฒนาผลงาน “นวัตกรรมเครื่องตรวจหารอยนิ้วมือแฝงสำหรับการพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรม” ขึ้น โดย ผศ.ดร.เขมฤทัย กล่าวว่า นวัตกรรมดังกล่าวเป็นการนำองค์ความรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์อย่างง่ายมาสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของกองพิสูจน์หลักฐาน ทั้งนี้วัตถุพยานหลักฐานส่วนใหญ่ที่พบในสถานที่เกิดเหตุเป็นวัตถุที่มีส่วนประกอบของโลหะ เช่น ปืน ปลอกกระสุนปืน มีด กุญแจ และอาวุธพกพาต่างๆ ซึ่งหลักฐานสำคัญที่พบมากที่สุดในที่เกิดเหตุ คือรอยลายนิ้วมือ (fingerprint) ที่สามารถนำมาตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลเพื่อยืนยันตัวผู้กระทำผิดได้ ดังนั้นนวัตกรรมดังกล่าวจึงเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับงานด้านนี้อย่างมากเพื่อใช้ในการหารอยนิ้วมือแฝงที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และทำให้ภาพรอยนิ้วมือปรากฏได้ชัดเจนมากขึ้น
“เป็นการนำหลักการของเซลล์ไฟฟ้าเคมีอย่างง่ายซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานมาประยุกต์ใช้โดยไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีขั้นสูงหรือเครื่องมือขั้นสูงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยการนำขั้วไฟฟ้าที่เฉื่อยต่อการเกิดปฏิกิริยามาต่อเข้ากับแหล่งจ่ายไฟฟ้าและนำเอาวัตถุพยานที่ต้องการหารอยนิ้วมือมาต่อเข้ากับอีกขั้ว ซึ่งขั้วไฟฟ้าทั้งสองจะจุ่มอยู่ในสารละลายนำไฟฟ้า และเนื่องจากบริเวณที่เป็นรอยนิ้วมือแฝงมีไขมันเกาะอยู่จึงมีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า ทำให้เกิดภาพคอนทราสท์ระหว่างพื้นผิวโลหะกับรอยนิ้วมือ และส่งผลให้เกิดเป็นภาพรอยนิ้วมือปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน”
ผศ.ดร.เขมฤทัย อธิบายต่อถึงวิธีการตรวจรอยนิ้วมือบนวัตถุพยานประเภทโลหะที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ การใช้ไอระเหยจากกาว การแช่ในสารละลายนินไฮดริน และการปัดผงฝุ่น ซึ่งทั้ง 3 วิธี นอกจากจะต้องอาศัยความชำนาญแล้ว ล้วนแต่มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้สารเคมีอันตราย ต้นทุนสูง ใช้เวลานาน และบางกรณีต้องทำถึง 2 วิธีร่วมกันจึงจะเห็นรอยนิ้วมือปรากฏชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามรอยนิ้วมือที่ปรากฏขึ้นจาก 3 วิธีดังกล่าวจะคงอยู่ไม่นานจึงต้องรีบถ่ายรูปเก็บไว้
และด้วยปัญหาดังกล่าวจึงมีการพัฒนานวัตกรรมนี้ขึ้นมา โดยมีข้อดีคือ รอยนิ้วมือจะปรากฏชัดเจนมากกว่าวิธีที่ใช้อยู่ทั่วไป และจะปรากฏอยู่อย่างนั้นได้นานนับปีเว้นแต่ว่าจะถูกทำลายอย่างตั้งใจ เช่น การขัด ถู นวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยให้การตรวจหารอยนิ้วมือของกลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ เป็นไปโดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และต้นทุนต่ำเพราะไม่ต้องใช้สารเคมีราคาสูง และมีขั้นตอนน้อยกว่าวิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยใช้เวลาเพียงแค่ 2 นาที ก็สามารถตรวจหารอยนิ้วมือแฝงบนวัสดุที่มีพื้นผิวเรียบ พื้นผิวขรุขระ พื้นผิวสะอาด หรือไม่สะอาดได้ ซึ่งอาจจะช่วยให้จับตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษได้เร็วมากยิ่งขึ้นด้วย
“ทางทีมเราพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวร่วมกับ พ.ต.อ.หญิง สุรินทร์ ชมเสาร์หัศ นักวิทยาศาสตร์ สบ๔ กลุ่มงานตรวจลายนิ้วมือแฝง กองพิสูจน์หลักฐานกลาง และ พ.ต.ท.หญิง ศิริประภา รัตตัญญู นักวิทยาศาสตร์ สบ๓ กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง และได้มีการทดลองใช้จริงแล้วพบว่ามีประสิทธิภาพอย่างมาก จึงได้มีการพัฒนาจากอุปกรณ์ต้นแบบเป็นเครื่องมือสำหรับการปฏิบัติงานจริงเป็น 2 แบบ คือ เครื่องมือสำหรับตรวจหารอยนิ้วมือแฝงบนวัตถุพยานขนาดใหญ่เพื่อใช้ในห้องปฏิบัติการ และเครื่องมือสำหรับพกพาลงพื้นที่เกิดเหตุสำหรับตรวจหารอยนิ้วมือแฝงบนวัตถุพยานขนาดเล็ก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนยื่นจดสิทธิบัตร”
ผศ.ดร.เขมฤทัย กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า ความตั้งใจสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวก็เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐของประเทศมีเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีฝีมือคนไทย ผลิตขึ้นได้ในประเทศไทย ราคาไม่สูง แต่มีคุณภาพ และสามารถที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
“หากเรามีวิธีในการจับตัวคนร้ายที่ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจจะนำมาซึ่งการลดอาชญากรรม คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรก็ดีขึ้น และยิ่งตอนนี้เปิดเป็น AEC แล้วในส่วนข้อดีในด้านเศรษฐกิจมีมาก แต่ปัญหาที่จะตามมาก็ไม่น้อย เพราะประเทศเปิดมากขึ้นการนำไปสู่การก่ออาชญากรรม หรือการก่อการร้ายมากขึ้นไปด้วย หรืออาจเป็นช่องทางในการนำส่งสินค้าอาวุธ ยาเสพติด สิ่งผิดกฏหมายได้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นถ้าเราหมั่นพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐให้เข้มแข็งและรัดกุมมากขึ้นได้ สังคมประเทศเราก็จะน่าอยู่และปลอดภัย”
และด้วยความมุ่งมั่นในการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมเครื่องตรวจหารอยนิ้วมือแฝงสำหรับการพิสูจน์หลักฐานอาชญากรรม รวมถึงผลงานชิ้นอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม จึงมีส่วนให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มอบรางวัลนักวิจัยดาวรุ่งประจำปี 2558 ให้แก่ ผศ.ดร.เขมฤทัย เนื่องด้วยเป็นผลงานที่เน้นคุณค่าทางสังคมและชุมชน เพื่อเป็นการยกย่องอาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่ และส่งเสริมให้อาจารย์นักวิจัยรุ่นใหม่รักงานวิจัย มีการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป.