เมื่อไทยต้องการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงต้องเร่งพัฒนาคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะมหาวิทยาลัยวิจัยและเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีภารกิจผลิตบัณฑิตเก่งดีและมีคุณภาพสู่สังคม เพื่อเป็นกำลังของชาติตลอดจนการสร้างผลงานวิจัยที่มีคุณค่าตอบสนองความต้องการของประเทศ หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์นาโนและเทคโนโลยีนาโน และหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์นาโนและเทคโนโลยีนาโน เป็นหลักสูตรใหม่ที่ มจธ.จัดขึ้น เปิดการเรียนการสอนแล้วในปีการศึกษา 1/ 2559 เริ่มตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2559 นี้
รศ.ดร.วีระศักดิ์ สุระเรืองชัย สายวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะประธานหลักสูตรวิทยาศาสตร์นาโนและเทคโนโลยีนาโน กล่าวว่า หลักสูตรนาโนนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาศาสตร์และคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี เป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้กับนักศึกษาที่มีความสนใจและต้องการศึกษาต่อทางด้านนาโนเข้ามาเรียนในระดับปริญญาโท และปริญญาเอก โดยมีพื้นฐานจบด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวภาพ และอื่นๆ รวมถึงสาขาทางเทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์ ก็สามารถมาศึกษาต่อได้ โดยจะคัดเลือกจากผู้ที่มีความกระตือรือร้น มีฉันทะและต้องการมากกว่าวิชาเรียน การคัดเลือกโดยการสัมภาษณ์เป็นหลัก โดยในช่วงปีแรกๆ ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับทุนสนับสนุนจากคณะวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน นอกจากนี้ยังมีทุนการศึกษาเพชรพระจอมเกล้าและทุนผู้ช่วยวิจัยโครงการ
“เรามองว่า ฐานความรู้นาโนมาจากวิทยาศาสตร์เป็นหลักไม่ว่าจะเป็นเคมี ฟิสิกส์ และชีวภาพ และมีการขยับเป็นพหุศาสตร์บวกกับจะจับต้องได้เกิดประโยชน์ได้เชิงเทคโนโลยี จึงใช้คำเรียกหลักสูตร วิทยาศาสตร์นาโนและเทคโนโลยีนาโน แม้ว่านาโนจะเรียนได้ในทุกภาควิชาแต่มักถูกจำกัดหรือจัดให้อยู่ในวิชาหรือสาขาใดสาขาหนึ่ง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานในรูปแบบของกลุ่มงานวิจัยหรือคลัสเตอร์นาโนที่ไม่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ขณะเดียวกันนาโนเปรียบเสมือนเครื่องมือในการเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ มาบรรจบร่วมและเชื่อมโยงนักวิจัยด้วย ดังนั้นหลักสูตรนาโนนี้จะเป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากหลากหลายสาขามารวมเข้าด้วยกันและใช้ฐานความรู้เหล่านั้นปรับและเสริมเรื่องนาโนเข้าไป จะทำให้เขามีพื้นฐานความรู้ที่เข้มแข็งและมีความรู้ที่หลากหลายไม่ใช่รู้เฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับคนอื่นๆ เพราะหลักสูตรนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะวิชาการในห้องเรียน ยังมีองค์ประกอบงานวิจัย การสัมมนา และการทำวิทยานิพนธ์ที่มีโจทย์ทั้งวิชาการและเชื่อโยงกับภาคการผลิต มีการเสริมประสบการณ์การสร้างและธุรกิจผู้ประกอบการเทคโนโลยีด้วยภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับแนวคิดการจัดทำหลักสูตรนาโนนี้ รศ.ดร.วีระศักดิ์ ในฐานะหัวหน้าหลักสูตรฯ กล่าวว่า แนวคิดนี้มีขึ้นตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งคลัสเตอร์วิจัยวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นาโนเป็นหนึ่งในเป้าหมายการสร้างความเป็นเลิศทางด้านวิชาการและวิจัยในแผนพัฒนาเชิงกลยุทธ์ของ มจธ. และก่อนหน้านี้เรามีการจัดทำนาโนแคมป์ขึ้นเปิดรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับนาโนมาเข้าค่ายเป็นการประชาสัมพันธ์หลักสูตร พบว่าได้รับความสนใจอย่างมาก กระทั่งในที่สุดสามารถจัดทำหลักสูตรแล้วเสร็จ โดยหลักสูตรนี้มีความน่าสนใจ คือ หนึ่ง บุคลากร เรามีกลุ่มอาจารย์ที่ค่อนข้างหลากหลาย คือ มาจากศาสตร์สาขาวิชาที่แตกต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนาโน สอง โจทย์วิจัย นอกจากจากผลงานตีพิมพ์แล้วยังมีเรื่องที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมได้ เป็นโจทย์วิจัยที่ได้จากภาคอุตสาหกรรมที่จะให้กับนักศึกษาได้ทำวิจัย และสามในฐานะสมาชิกกลุ่ม Asia Nano Forum ทำให้เราสามารถส่งนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม Asia Nano Camp ซึ่งนักศึกษาจะได้ทำโจทย์ที่จะนำไปสู่การใช้จริงได้ ขณะเดียวกันจะช่วยให้คำแนะนำในเรื่องเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบธุรกิจนาโน
รูปแบบการเรียนการสอนของหลักสูตรจะเน้นงานวิจัยเป็นหลัก โดยสัปดาห์หนึ่งจะเรียนแค่ 2 วันที่เหลือทำวิจัย และใช้การสัมมนาและบรรยายโดยวิทยากรจากหลายภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ โจทย์วิทยานิพนธ์มีเป้าหมายผลงานวิจัยที่มีผลกระทบสูงและมีคุณค่าทางวิชาการ หรืองานที่เป็นอุปสงค์หรืออุปทานในการใช้ประโยชน์จริง สำหรับนักศึกษารุ่นแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อในภาคการศึกษา 1/2559 นี้ มีทั้งสิ้น 19 คน แบ่งเป็น นักศึกษาปริญญาโท 15 คน จากจำนวนผู้ที่สมัครเข้ามา 25 คน และมีนักศึกษาปริญญาเอก 4 คน โดยในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาจากต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เนปาล และ บังคลาเทศ
รศ.ดร.วีระศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า “นาโนเป็นเรื่องของความหลากหลายที่ต้องใช้ความรู้ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประกอบกัน ไม่ได้มองว่านาโนจะต้องมาจากภาควิชาใดวิชาหนึ่ง การทำหลักสูตรสำหรับปริญญาโทและเอกก็เพื่อต้องการผู้ที่มีฐานความรู้เดิมจากระดับปริญญาตรีมาไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาใดที่ไม่ใช่นาโน แต่มีความสนใจที่อยากจะทำงานด้านนี้ได้เข้ามาเรียนต่อ เพราะหากไม่มีความหลากหลายย่อมจะไม่พบช่องทางใหม่ๆ การที่นักศึกษาได้เรียนรู้ในหลายๆ สิ่งจะทำให้เขาสามารถมองเห็นช่องทางในการวิจัยเกิดแนวคิดที่กว้างขึ้นมากกว่าที่จะถูกจำกัดไว้เฉพาะฐานความรู้เดิมๆ ที่สำคัญยังทำให้เขาสามารถพัฒนาตัวเองและคุ้นเคยกับความหลากหลายเพื่อการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้อย่างไม่ลำบาก”
สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีที่สนใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สามารถติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://nano.kmutt.ac.th/ หรือ อีเมล์ nano@kmutt.ac.th