อีกความคืบหน้าของการออกแบบพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้งดงามและยั่งยืน โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) เป็นการพัฒนาพื้นที่ภูมิทัศน์บนฐานมรดกวัฒนธรรม และเชื่อมต่อมรดกวัฒนธรรมสองฝั่งแม่น้ำเหล่านั้นให้ประชาชนเข้าถึงได้ด้วยทางเดิน-ทางจักรยาน ซึ่งบางส่วนเลียบแม่น้ำ บางส่วนวกเข้าพื้นดิน เชื่อมโยงพื้นที่สีเขียว นันทนาการ วัฒนธรรม และระบบขนส่งสาธารณะรถ เรือ ราง โดยกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาการสำรวจวิจัยและออกแบบ จัดทำผังแม่บท 57 กม.จากสะพานพระราม 7 ถึงบางกระเจ้า และออกแบบรายละเอียดระยะนำร่อง 14 กม.จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานพระปิ่นเกล้า ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยแบบเบื้องต้นออกมาให้ประชาชนได้ชมกัน และมีส่วนร่วมแสดงข้อคิดเห็น และในวันนี้คณะผู้บริหารโครงการได้พาสื่อมวลชนลงพื้นที่ ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลนี ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 94 แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด ซึ่งเป็นหนึ่งใน 33 ชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยา
ผศ.กฤษณ์ เจ็ดวรรณะ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) กล่าวว่า นอกจากโครงการนี้จะพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งโดยมีแนวทางอนุรักษ์-สืบสาน-สร้างสรรค์วิถีวัฒนธรรมริมน้ำ คุณภาพชีวิตที่ดี และการเชื่อมต่อให้เข้าถึงแม่น้ำได้อย่างเท่าเทียมกันด้วยทางเดินเท้า ทางจักรยานแล้ว ในเชิงเศรษฐกิจ ปี 2559 นี้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรวม 2.57 ล้านล้านบาท ทั้งนี้กรุงเทพมหานครยังคงเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนมากที่สุดถึง 18.3 ล้านคน โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้จะช่วยสร้างเสริมโอกาสและพัมนาศักยภาพการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน สองฝั่งแม่น้ำจะมีชุมชนมรดกวัฒนธรรมและแหล่งเรียนรู้ที่ความหลากหลายให้คนไทยและนักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสมากยิ่งขึ้น ช่วยกระจายรายได้สู่เศรษฐกิจชุมชนและประชาชนสองฝั่งแม่น้ำ
ทางโครงการฯ ได้มาพบปะ ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลณี ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 94 แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนำเสนอแบบซึ่งมาจากการสืบค้นข้อมูล สำรวจวิเคราะห์ ปรึกษาหารือกับท่านเจ้าอาวาสวัดฉัตรแก้วจงกลณีและชุมชนก่อนหน้านี้ บริเวณที่ตั้งชุมชนลักษณะเป็นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยจรัญสนิทวงศ์ 94 แขวงบางอ้อ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร กรรมสิทธิ์ มีพื้นที่ 30 ไร่ โดยเป็นที่ธรณีสงฆ์วัดฉัตรแก้วจงกลณีและที่ดินเอกชนบางส่วน ชุมชนร่วมกันพิจารณาแบบและเห็นชอบกับแบบพัฒนาพื้นที่ ประกอบด้วย การปรับปรุงภูมิทัศน์ริมน้ำ ศาลาท่าน้ำ พัฒนาท่าเรือ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมกิจกรรมท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเสริมรายได้ให้กับชุมชน ส่วนทางเดินเท้าและทางจักรยานอยู่ในระดับต่ำกว่าสันเขื่อน
อาณาเขตพื้นที่ชุมชน มี 300 ครัวเรือน บ้านจำนวน 265 หลัง ทิศเหนือ จรดมัสยิดดารุ้ลอิหซาน, ทิศใต้ จรดซอยจรัญสนิทวงศ์ 92, ทิศตะวันออก จรดแม่น้ำเจ้าพระยาและวัดฉัตรแก้วจงกลณี, ทิศตะวันตก จรดถนนจรัญสนิทวงศ์
ลักษณะของพื้นที่ชุมชนและอาชีพ เป็นที่ดินของวัดฉัตรแก้วจงกลณีและที่ดินเอกชนบางส่วน สภาพบ้านที่อยู่อาศัยที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นบ้านไม้ สภาพทรุดโทรมปลูกเรียงชิดติดกันเป็นแนวยาว มีหลังคาเกือบติดกัน ทางเดินเท้าภายในชุมชนกว้างประมาณ 1.20 เมตร สภาพของชุมชนอยู่ในแนวเขื่อนกันน้ำท่วม จึงมีลักษณะที่ยกพื้นสูง เนื่องจากมีน้ำท่วมขังหลังเขื่อน ในพื้นที่ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลนียังมีกลุ่มที่อยู่อาศัยที่อยู่นอกแนวเขื่อนกั้นน้ำ(บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา) ซึ่งมีลักษณะที่ปักเสายกสูงลอยอยู่บนแม่น้ำเจ้าพระยา จากการสอบถามในเรื่องของกรรมสิทธิ์ที่ดินคือไม่มีสัญญาเช่า อาชีพหลักของคนในชุมชน คือ อาชีพรับจ้างและค้าขาย
นิเวศทางสังคม แง่มุมประวัติศาสตร์ ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลณี เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการก่อสร้างวัดฉัตรแก้วจงกลณีหรือในราว พ.ศ. 2330 ชุมชนอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาและริมคลองบางอ้อ เดิมพื้นที่โดยรอบมีเต็มไปด้วยสวนผลไม้ พื้นที่ของชุมชนเป็นพื้นที่ธรณีสงฆ์ ประชาชนได้รวมตัวกันและจัดตั้งชุมชน และกรรมการชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 ศูนย์รวมทางจิตใจ และกิจกรรมของชุมชน พระพุทธรูปทรงเครื่องและเรือนไม้สักทรงไทย (หอสวดมนต์) ปัจจุบันถูกยกขึ้นไปอยู่บนชั้น2 และพระปรางค์วัดฉัตรแก้วจงกลณี พื้นที่ศูนย์กลางของชุมชนจะอยู่บริเวณศาลาท่าน้ำเดิมของวัด ซึ่งปัจจุบันอยู่บนบกและเป็นศาลานั่งเล่นของประชาชนในชุมชน จุดเด่นของชุมชน พระปรางค์วัดฉัตรแก้วจงกลณี จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถและศาลาไม้สักทรงไทยที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่อง
ความต้องการของชุมชนและวัด ต้องการเพิ่มเติม ได้แก่ เสาไฟฟ้าส่องสว่างและกล้องวงจรปิดและทำสัญญาณเชื่อมกล้องวงจรปิดทางเดินทางจักรยานเข้ากล้องวงจรปิดของชุมชน ทำทางเชื่อมเข้าบริเวณชุมชนโดยเชื่อมโยงกับท่าเรือของวัดฉัตรแก้วจงกลณี