ทีม PH21 (พีเอชทเวนตี้วัน) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำความภาคภูมิใจมาสู่ชาวไทยหลังคว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลก ในสาขาการพัฒนาเกมจากรายการ Imagine Cup 2016 (อิมเมจิ้น คัพ 2016) เวทีการแข่งขันพัฒนานวัตกรรมระดับนักศึกษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกรายการหนึ่ง ซึ่งจัดขึ้นโดยไมโครซอฟท์ ด้วยผลงานเกมสุดสร้างสรรค์ “Timelie” (ไทม์ไลน์)
ความสำเร็จของทีม PH21 ในปีนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีสถิติที่ยอดเยี่ยมในการแข่งขัน Imagine Cup ด้วยตำแหน่งแชมป์โลกในระดับสาขาเป็นครั้งที่ 4 จากการแข่งขันทั้งสิ้น 14 ครั้ง หลังจากที่เคยคว้ารางวัลชนะเลิศมาแล้วในปี พ.ศ. 2550 2553 และ 2555
การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับโลกในรายการ Imagine Cup 2016 จัดขึ้น ณ เมืองซีแอตเทิล ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 26-29 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนเยาวชนเจ้าของตำแหน่งแชมป์ระดับประเทศรวมกว่า 35 ทีมจาก 33 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมชิงชัยด้วยการนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญของไมโครซอฟท์ ซึ่งรวมถึงกรรมการรับเชิญกิตติมศักดิ์ อย่าง จอห์น โบเยกา นักแสดงชื่อดังจากภาพยนตร์เรื่องสตาร์ วอร์ส ดร. เจนนิเฟอร์ ตั้ง อดีตแชมป์โลก Imagine Cup จากปี 2557 และเคซีย์ แชมเปียน วิศวกรซอฟต์แวร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของไมโครซอฟท์ โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ Games, Innovation และ World Citizenship นอกจากโอกาสที่จะได้รับรางวัลรวมมูลค่ากว่า 200,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7 ล้านบาท) พร้อมถ้วยรางวัลและโอกาสในการเข้ารับคำปรึกษาและแนะนำแบบตัวต่อตัวกับ
สัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์แล้ว เยาวชนที่เข้าร่วมแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศระดับโลกยังมีโอกาสได้เรียนรู้และศึกษาเทคนิคใหม่ ๆ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนทักษะด้านการออกแบบซอฟต์แวร์และการพัฒนาธุรกิจอีกด้วย
ทีม PH21 ตัวแทนประเทศไทย ประกอบด้วยนิสิตภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5 คน ได้แก่ นายปริเมธ วงศ์สัตยนนท์, นายคามิน กลยุทธสกุล, นายอาชัญ สุนทรอารมณ์, นายพงศธร สันติวัฒนกุล และ นายเจษฎา ตรีรุ่งกิจ โดยทั้ง 5 คนได้รับเงินรางวัลจำนวน 50,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.7 ล้านบาท) ในฐานะทีมชนะเลิศในสาขาการพัฒนาเกม ด้วยผลงานเกม “Timelie” ที่คว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศในรายการ Imagine Cup Thailand 2016 มาแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
เกม “Timelie” เป็นเกมปริศนาแนวใหม่ที่ใช้หลักการควบคุมเวลามาเป็นกลไกแก้ไขปริศนาต่าง ๆ ภายในเกม โดยผู้เล่นสามารถควบคุมตัวละครได้พร้อมกันสองตัวละคร ได้แก่ เมอร์ซ่าและอัลฟ่า เพื่อเอาชนะอุปสรรคมากมายและหนีออกจากศูนย์วิจัยลับที่เต็มไปด้วยศัตรูอันน่าสะพรึงกลัว ผู้เล่นจะสามารถมองเห็นอนาคตและวางแผนการกระทำต่างๆ รวมทั้งยังสามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขเหตุการณ์ที่ผ่านมา เพื่อให้อนาคตเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ผู้เล่นต้องการ พร้อมติดตามเนื้อเรื่องสุดตื่นเต้นที่ยากจะคาดเดา
“ไมโครซอฟท์ขอแสดงความยินดีกับตำแหน่งแชมป์โลกของน้องๆ ทีม PH21 ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพของเยาวชนไทยยุคใหม่ในการสร้างสรรค์แนวคิดและนวัตกรรมระดับโลกได้เป็นอย่างดี” นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษในประเทศไทย ไมโครซอฟท์ได้มุ่งให้การสนับสนุนกับเยาวชนไทยอย่างเต็มที่เพื่อสร้างเสริมทักษะและความเชี่ยวชาญอันจะนำไปสู่การพัฒนาซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่นและเทคโนโลยีที่ทรงพลัง พร้อมสำหรับการต่อยอดเป็นธุรกิจในอนาคต ซึ่งจะเป็นการยกระดับความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และเศรษฐกิจไทยต่อไปอีกด้วย”
สตีเวน กุกเกนไฮม์เมอร์ รองประธานฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวอีกว่า “ไมโครซอฟท์เชื่อในพลังของเยาวชนที่ถูกเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยี เพื่อให้พวกเขาได้สานฝันอันสุดสร้างสรรค์ให้กลายเป็นความจริง โครงการ Microsoft Imagine ซึ่งครอบคลุมถึงการแข่งขัน Imagine Cup ด้วยนั้น จะเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ไม่เคยพบเจอจากที่ใดมาก่อน พร้อมด้วยเครื่องมือและแพลตฟอร์มคลาวด์ระดับโลกสำหรับการพัฒนาแอพ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เพื่อให้พวกเขาสามารถเริ่มสร้างอนาคตตั้งแต่วันนี้”
การแข่งขัน Imagine Cup มีจุดมุ่งหมายที่จะส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนในการแสดงออกทางด้านความคิดสร้างสรรค์ผ่านการออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ โดยตลอดการแข่งขันทั้งสิ้น 14 ปีที่ผ่านมา มีเยาวชนเข้าร่วมประชันความสามารถแล้วกว่า 1.65 ล้านคนจาก 190 ประเทศทั่วโลก
ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมและติดตามความคืบหน้าของทีม PH21 ในการพัฒนาเกม Timelie ได้ที่ https://www.facebook.com/TimelieGame/
สำหรับผลการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศระดับโลก รายการ Imagine Cup 2016 มีดังนี้
รางวัลชนะเลิศรวม ได้แก่ทีม ENTy จากประเทศโรมาเนีย
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม PH21 จากประเทศไทย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม None Developers จากประเทศอินโดนีเซีย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม Tower Up จากประเทศบราซิล
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม ENTy จากประเทศโรมาเนีย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม Bit Masters จากประเทศศรีลังกา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม HealthX จากประเทศสหรัฐอเมริกา
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม AMANDA จากประเทศกรีซ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ได้แก่ ทีม Night’s Watch จากประเทศตูนีเซีย
รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ได้แก่ ทีม InSimu จากประเทศฮังการี