เนื้อหาวันที่ : 2016-07-29 15:10:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1205 views

SIPA จับมืออุตฯท่องเที่ยว คลอด 3 แพลตฟอร์มสำคัญ หลังเจอวิกฤติระบบอิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมท่องเที่ยวโลก

SIPA จับมืออุตฯท่องเที่ยว คลอด 3 แพลตฟอร์มสำคัญ หลังเจอวิกฤติระบบอิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมท่องเที่ยวโลก เตรียมออกมาตรฐานระบบค้นหาชื่อและตำแหน่งของโรงแรมไทยรองรับการสืบค้นทุกระบบ สร้างระบบบริหารการจองโรงแรมที่ทันสมัยที่สุดต่อเชื่อมทุกเว็บดังทั่วโลก พร้อมนำระบบ B2B ให้กลุ่มเอสเอ็มอีเข้าระบบแพคเกจของเอเยนต์ทัวร์ทั่วโลก

นายศุภชัย จงศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ SIPA เปิดเผยว่า ธุรกิจท่องเที่ยวหลังจากที่นำระบบไอทีมาใช้ นอกจากจะทำให้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก เกิดผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจท่องเที่ยว และสร้างปัญหาในระดับเชิงนโยบายใหม่ๆ เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างที่ภาครัฐและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่อาจเมินเฉยได้อีกต่อไป

ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การเติบโตของระบบเสิร์ชเอ็นจิ้นในรูปแบบต่าง ๆ กับระบบการพิมพ์ชื่อค้นหาชื่อและตำแหน่งของโรงแรม หลายครั้งที่การกำหนดแหล่งค้นหาของประเทศไทยไม่สามารถดึงข้อมูลผู้ประกอบการที่แท้จริงออกมาให้ผู้สืบค้นได้ ทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจไป ซึ่งการกำหนดรหัสสืบค้นที่เป็นมาตรฐานจะช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยทั้งประเทศได้ แต่จะให้ผู้ประกอบการ หรือหน่วยงานท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นเคยกับโลกดิจิทัลมาจัดการตั้งมาตรฐานรหัสนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ ความช่วยเหลือในเชิงนโยบายเช่นนี้จำเป็นที่จะต้องมีตัวกลางเช่น SIPA และพันธมิตรทั้งหลายเข้ามาแก้ไข

อีกปัญหาหนึ่งก็คือ การเติบโตของเว็บไซต์จองโรงแรมชื่อดังทั่วโลก ทั้งที่มีจำนวนมาก และมีระบบการใส่ข้อมูลการจองที่ทางโรงแรมต้องมาดำเนินการเอง รวมถึงระบบการตั้งราคา และการให้ส่วนแบ่งต่าง ๆ ได้สร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการโรงแรมทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย จนเกิดมีธุรกิจตัวกลางรับทำหน้าที่กรอกข้อมูลและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการซื้อขายในเว็บและแอปพลิเคชันของระบบจองโรงแรม ซึ่งเราเรียกตัวกลางนี้ว่า Hotel Channel Management

ยิ่งเว็บไซต์และแอปพลิเคชันจองโรงแรมที่พักเติบโตมากขึ้น ระบบ Hotel Channel Management ก็เติบโตตามไปด้วย ก็ยิ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายของโรงแรม และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องเช่น บริษัททัวร์ต่าง ๆ ต้องปันส่วนแบ่งรายได้ให้กับระบบเหล่านี้ ที่สำคัญคือรายได้จากส่วนแบ่งจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่แบ่งไป รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีรายได้ในส่วนนี้เลย เป็นการนำเงินออกโดยที่ไม่มีส่วนให้กับเศรษฐกิจไทย

นอกจากนั้น ก็คือการขาดแพลตฟอร์มกลางให้กับผู้ขายรายย่อยระดับ SMEs ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กับบริษัททัวร์เอเยนต์ที่มีอยู่ทั่วโลก เพราะระบบการขายแพคเกจท่องเที่ยวในปัจจุบันบริการต่าง ๆ ของท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการขายของที่ระลึก การให้เช่ารถ การให้เช่าเรือท่องเที่ยว และอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับบริษัททัวร์เอเยนต์ ซึ่งมักจะเป็นการติดต่อกับระหว่างทัวร์เอเยนต์ต้นทางกับทัวร์เอเยนต์ปลายทาง โดยที่ทัวร์เอเยนต์ปลายทางจะเป็นผู้กุมชะตาการนำเสนอทั้งหมดเอาไว้ ซึ่งทำให้ธุรกิจ SMEs ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวไทยจะเข้าถึงได้ยาก และมักขาดโอกาสในการตลาด จึงจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มที่รวบรวมสินค้าและบริการของ SMEs การท่องเที่ยวไทยรวมกันขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกให้เอเยนต์ต่าง ๆ ทั่วโลก ได้ใช้เป็นทางเลือก

SIPA ได้ใช้เวลาถึง 2 ปีในการสร้างแพลตฟอร์มทางด้านไอทีเพื่อรองรับปัญหาการท่องเที่ยวไทย ทั้งเพื่อกำหนดสิ่งที่ควรเป็นมาตรฐาน สิ่งที่จะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยในระยะยาว และช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในระดับรากหญ้า โดยมองที่ไอทีจะเข้าไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ซึ่งนี่เกิดจากการที่ SIPA ลงลึกเข้าไปในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจริงๆ เข้าไปค้นหาปัญหาและหาทางแก้ไขให้ถูกจุดที่สุด

ปัจจุบันโครงการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในระดับสากล หรือ Tourism Thailand Open Platform ที่เรียกสั้นๆ ว่า ToTOP บางส่วนอยู่ระหว่างการพัฒนา บางส่วนอยู่ระหว่างการรอประกาศใช้ ซึ่งภายใน 3 เดือนข้างหน้าทั้งหมดที่วางแผนไว้จะดำเนินการเสร็จสิ้น และในช่วง 3 เดือนนี้ SIPA กับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งทำความเข้าใจกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดว่าจะมีเอเยนต์ท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้าร่วมมากกว่า 300 แห่ง และจะมีเอเยนต์ท่องเที่ยวในประเทศเข้าร่วมมากกว่า 50% ในช่วงนี้

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์  ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า แม้เทคโนโลยีปัจจุบันจะเริ่มเอื้อให้ธุรกิจขนาดเล็กได้เข้าถึงลูกค้าต่าง ๆ ด้วยต้นทุนที่น้อยลงและเปิดกว้างมากขึ้น แต่สำหรับในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวการที่ธุรกิจขนาดเล็กจะต่อสู้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างองค์กรทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรองรับ ไม่ว่าจะเป็นระบบเอเยนต์ทั้งในและต่างประเทศที่เชื่อมถึงกัน ระบบการซื้อขายแบบ Business to Business หรือ B2B ที่ทำให้เกิดแพคเกจการขายในราคาที่ต่ำ และอื่น ๆ ก็ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีเส้นสาย หรือไม่ได้ทำตามข้อกำหนดของเอเยนต์ใหญ่ ไม่สามารถส่งสินค้าและบริการของตนเองไปยังนักท่องเที่ยวทั้งหลายได้

หากพิจารณาจากการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเสริมแล้ว การท่องเที่ยวแบบ individual หรือแบบส่วนตัวจะเพิ่มมากขึ้น (FIT) จะมีการค้นหาสินค้าและบริการต่าง ๆ จากเสิร์ชเอ็นจิ้น และแอปพลิเคชันใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งถ้าหากปล่อยตามธรรมชาติแล้ว ธุรกิจเล็กๆ กลุ่มนี้จะไม่สามารถสร้างตลาด หรือสร้างเครือข่ายออนไลน์ และช่องทางที่ไฮเทคขึ้นมาเองได้อย่างแน่นอน โดยแนวโน้มที่จะค่อยๆ เกิดขึ้นก็คือ จะมีผู้ผลิตตลาดออนไลน์ หรืออื่น ๆ ขึ้นมาเพื่อชิงส่วนแบ่งกำไร เป็นค่าการตลาดของสินค้าและบริการท่องเที่ยวไทยขึ้นมาอีกเหมือนเช่นที่ผู้ให้บริการทางด้านโรงแรมประสบมาแล้ว

ดังนั้นแนวทางแก้ไขที่ SIPA ร่วมหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาตลอดก็คือ ทำอย่างไรให้เปิดโอกาสให้ธุรกิจเล็กๆ กลุ่มนี้ได้มีโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ๆ และพฤติกรรมการบริโภคใหม่ๆ ของนักท่องเที่ยว รวมถึงการเข้ามาใช้ระบบไอทีของพวกเอเยนต์ทัวร์ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งข้อสรุปส่วนหนึ่งคือ การต้องมีแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายแบบ B2B ที่ต้องรองรับกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กแบบเปิดเสรี

ระบบนี้จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับระบบของการเป็นหน่วยย่อย หรือ sub-contact ที่ธุรกิจท่องเที่ยวเดิมทำกับเอเยนต์ กลุ่มนี้ยังสามารถจัดทำแพคเกจวางระบบจำหน่ายหรือให้บริการผ่านตัวแทนเพื่อนำเสนอต่อเอเยนต์ทั่วร์ต่างประเทศอยู่เหมือนเดิม แต่แพลตฟอร์มใหม่จะขอความสมัครใจจากธุรกิจท่องเที่ยวและบริการทั้งหมด เล็ก กลาง ใหญ่ ที่ต้องการนำสินค้าและบริการของตนเองมาเสนอต่อเอเยนต์ทัวร์ต่างประเทศโดยตรง ซึ่งมันจะเป็นทางเลือกใหม่ เพื่อมูลค่าใหม่ให้กับตลาด นอกจากป้องกันการผูกขาดจากการกำหนดของเอเยนต์ทัวร์ในประเทศ ยังทำให้สินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของไทยได้แข่งขันทั้งในด้านราคาและประสิทธิภาพที่สมเหตุสมผลอีกด้วย

ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เปิดเผยว่า การสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการท่องเที่ยว ที่ SIPA กำลังดำเนินการอยู่นี้คือการคิดและทำสิ่งที่ แก้ไขปัญหาในปัจจุบันและคิดก้าวล้ำไปข้างหน้า แพลตฟอร์มนี้มีหลายประเทศอยากมีแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ และไทยจะเป็นประเทศแรก ๆ ของโลกที่ดำเนินการ ดังนั้นนอกจากการพัฒนาให้แล้วเสร็จแล้วการสร้างความร่วมมือของผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต้องปรับตัวมาตลอด ตั้งแต่การขายผ่านระบบเอเยนต์ซี่ปกติ มาเป็นการขายผ่านเว็บไซต์ตัวกลาง มาเจอกับปัญหาการค้นหาจากเสิร์ชเอ็นจิ้นที่ไม่ครอบคลุม มาเจอกับการผ่านตัวกลางอย่าง Channel Management หรือพวกบริหารช่องทางจำหน่ายอิเล็กทรอนิกส์ ไหนจะต้องมาปรับระบบไอทีภายในเพื่อรองรับปริมาณความต้องการที่ซับซ้อน ปรับตัวกับการติดตั้งระบบไวไฟเพื่อรองรับความต้องใช้อินเทอร์เน็ต ปรับตัวกับการใช้โซเชียลมีเดียของลูกค้าที่พร้อมจะเป็นดาบสองคมให้ธุรกิจ รวมถึงต้องปรับตัวเข้ากับการแข่งขันแบบขายตรงแบบใหม่ที่ทำให้นักท่องเที่ยวติดต่อโดยตรงกับเจ้าของบ้านที่เพิ่งกระโดดเข้ามาในธุรกิจท่องเที่ยวแนวใหม่ และเชื่อว่าธุรกิจท่องเที่ยวของโลกยังต้องปรับตัวไปเมื่อมีนวัตกรรมใหม่เข้ามาอีกแน่

การปรับตัวทุกครั้งถือเป็นต้นทุนที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้นให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งพิจารณาจากแนวโน้มแล้วส่วนแบ่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะต้องจ่ายให้กับตัวแทนรูปแบบใหม่จะมากขึ้นทุกที หากยังเป็นแนวโน้มเช่นนี้ต่อไป อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะไม่สามารถแบกรับได้ ขณะเดียวกันภาครัฐแม้จะเห็นตัวเลขการท่องเที่ยวที่ดีแต่ไม่สามารถเก็บเกี่ยวรายได้จากการท่องเที่ยวได้เลย

ดังนั้น ภาครัฐทางด้านไอทีจะต้องเร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาอันเกิดจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งทางฝั่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ดังนั้นโครงการส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในระดับสากล Tourism Thailand Open Platform: ToTOP จึงเป็นเหมือนสิ่งนำร่องที่รัฐบาลกำลังใช้ไอทีแก้ปัญหาที่เกิดจากไอที

ขณะนี้หน้าที่ของ SIPA คือเร่งสร้างแพลตฟอร์มให้เสร็จสมบูรณ์ ขณะเดียวกันกระทรวงไอซีทีและกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาจะเป็นเหมือนพี่เลี้ยงที่คอยสนับสนุน และเป็นหน่วยงานการันตีว่าแพลตฟอร์มที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ มีประโยชน์กับทั้งอุตสาหกรรม โดยจะไม่มีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว แต่จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวที่อยู่ในวงจรได้ประโยชน์ในภาพรวม ทำให้ธุรกิจง่ายขึ้นโดยไม่กลายเป็นต้นทุนส่วนเพิ่มให้กับธุรกิจเลย และจะทำให้ลดการเสียเปรียบทางการค้าให้กับธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น

ถึงวันนี้ระบบ Standard Code หรือรหัสมาตรฐานของธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งทาง SIPA ได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในการเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านการค้นหา หรือ Search ในระบบไอที ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จสิ้น 100% แล้ว เหลือเพียงรอการประกาศจากหน่วยงานมาตรฐาน หลังจากนั้นภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะสามารถนำไปใช้ และสร้างเป็นมาตรฐานให้เกิดขึ้นเป็นแห่งแรกของโลกเลยทีเดียว

ระบบ Hotel Channel Management ที่พัฒนาขึ้นครั้งนี้ จะเป็นระบบที่มีทั้งเทคโนโลยี pushing และ pulling ตัวระบบจะมีความซับซ้อนพอๆ กับระบบคอมพิวเตอร์ของตลาดหุ้น เพราะแต่ละการจองห้องจะต้องลดและเพิ่มในที่ต่าง ๆ จำนวนมากในเวลาเดียวกัน ซึ่งในตลาดโลกตอนนี้ทำได้เพียงระบบใดระบบหนึ่ง ไม่สามารถพัฒนาสองระบบได้ในแพลตฟอร์มเดียวกัน แต่ระบบที่ SIPA พัฒนาจะทำได้และจะเป็นแห่งแรกของโลกอีกเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ระบบพัฒนาไปได้ 60% แล้ว และจะเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้แน่นอน

แพลตฟอร์ม B2B Agent หรือตลาดเสนอสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวที่ส่งตรงถึงเอเยนต์ทัวร์ต่างประเทศ จะเป็นตลาดกลางที่ทำให้เอเยนต์ทัวร์ทั่วโลกที่นำลูกทัวร์ต่างประเทศเข้าไทย สามารถปรับแพคเกจบริการและสินค้าต่าง ๆ โดยดึงจากกลุ่ม SMEs ด้านท่องเที่ยวของไทยได้โดยตรง ซึ่งขณะนี้ตัวระบบคืบหน้าไปมากแล้วและกำลังประสานงานจากหน่วยงานภาครัฐในแง่มุมต่าง ๆ เท่านั้น

งานทั้งสามชิ้นจะก่อมูลค่าเพิ่มทางด้านการท่องเที่ยวให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล และเชื่อว่าในอนาคตอาจต้องมีแฟลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยเหลืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยให้ก้าวล้ำหน้าอยู่นระดับโลก โดยที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มต้นทุนในด้านการปรับตัว หรือสุ่มเสี่ยงในเชิงธุรกิจอีกต่อไป