ซิป้าบูรณาการสาธารณสุขกับเทคโนโลยี ส่งผ่านข้อมูลด้านสุขภาพอำนวยความสะดวกผู้ใช้งาน เข้าถึงการรักษาพยาบาล ตั้งเป้าดำเนินการระยะ 3 ผู้ใช้งานกว่า 3,000 ราย ใน 4 จังหวัด ภูเก็ต ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ และ กาญจนบุรี
การเดินหน้าปฏิรูปสาธารณสุขเป็นหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศทุกภาคส่วน ซึ่งการปฏิรูประบบสาธารณสุข โดยการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงถือเป็นก้าวสำคัญ ที่ทำให้ทุกคนได้รับการดูแลเมื่อเจ็บป่วยอย่างครอบคลุมและทั่วถึง แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องดังกล่าวเกิดจากความไม่เท่าเทียมของระบบสาธารณสุขประเทศ ดังนั้น เป้าหมายหลักสำคัญ ต้องทำให้ระบบสุขภาพประเทศเป็นระบบเดียวและมาตรฐานเดียว คนไทยทุกคนได้รับบริการที่ดี เหมาะสม และได้รับสิทธิประโยชน์สำคัญอย่างเท่าเทียมกันทุกคน ดังนั้นการพัฒนาระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record: PHR) จึงถือเป็นก้าวสำคัญในการร่วมปฏิรูปเรื่องดังกล่าว และทำให้ผู้รักษาพยาบาลสามารถติดตามผู้เข้ารับการรักษาได้ตลอดเวลา
นายศุภชัย จงศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ได้ตอบรับนโยบายของรัฐบาลที่จะลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีของประชาชน จึงได้ดำเนิน โครงการศึกษาและพัฒนาระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล หรือ PHR เป็นการพัฒนาระบบการบริการซอฟต์แวร์ สำหรับภาคประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศของประชาชนในพื้นที่ได้ตรงจุด ทำให้การดูแลสุขภาพ และการติดตามการรักษาพยาบาลได้ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ได้ดำเนินโครงการมาแล้ว 2 ระยะ คือ
ระยะแรก เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ ซิป้า เนคเทค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครนายก นำระบบ PHR มาใช้นำร่องกับประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ ในจังหวัดนครนายก โดยเริ่มจากการฝึกอบรม ประชาชนจาก 4 อำเภอ ใน 4 หมู่บ้าน จำนวน กว่า 600 ราย เพื่อเข้าใช้งานผ่านรหัสเลขบัตรประจำตัวประชาชน บน Web Browser ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนตัวได้ อาทิ ข้อมูลการรับการรักษา ข้อมูลการรับยา วัดนัดแพทย์ อย่างไรก็ดีในการเข้าดูข้อมูลเหล่านั้นก็จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและโรคประจำตัวต่างๆที่ผู้ป่วยกำลังรับการรักษาจากบุคลากรทางการแพทย์
ระยะที่ 2 หลังประสบความสำเร็จจากระยะแรก คณะทำงานร่วมโครงการระหว่าง ซิป้า และ เนคเทค จึงได้พัฒนา Application Programming Interface: API เพื่อให้สามารถต่อยอดการพัฒนาระบบ PHR ไปเป็นรูปแบบแอปพลิเคชัน บน Smart Device ต่างๆ ซึ่ง API ดังกล่าวนั้นได้เปิดให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย นำไปใช้ในการพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้งานระบบ PHR ให้ครอบคลุมบริการที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและยังเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ให้มีบริการซอฟต์แวร์สุขภาพ เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ซิป้ายังมีการพัฒนาเชื่อมต่อให้
สมาชิกในครอบครัว สามารถเข้าถึงข้อมูลเบื้องต้นของสมาชิกในครอบครัวได้ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้เปิดใช้งานระบบ PHR จำนวน 2,483 ราย และมีความร่วมมือระหว่างบริษัทซอฟต์แวร์เอกชนด้านสุขภาพนำ API ไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดระบบ PHR กว่า 30 บริษัท
อย่างไรก็ดีสำหรับการดำเนินงานระยะที่ 3 นั้น เป็นการขยายผลการใช้งานระบบ PHR เพื่อประยุกต์ใช้กับจังหวัดอื่นๆ ให้ครอบคลุมการใช้งานของประชาชนและบุคคลากรทางการแพทย์ให้มากที่สุด ซึ่งในขณะนี้กำลังดำเนินการพัฒนาระบบ PHR ทั้ง 4 จังหวัดใน 4 ภูมิภาค คือ จังหวัดภูเก็ต ร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ และ กาญจนบุรี และได้พัฒนาส่วนเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพประชาชนให้สัมพันธ์กับระบบ Hospital Information System: HIS ของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม และยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพระหว่างจังหวัดได้อีกด้วย และเพื่อให้การดำเนินโครงการในอนาคตเป็นไปอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ และปลอดภัย ทั้งนี้การดำเนินงานในระยะที่ 3 ซิป้าตั้งเป้าหมายให้ประชาชนใน 4 จังหวัด สามารถลงทะเบียนการใช้งานระบบฯ จำนวน ไม่น้อยกว่า 3,000 ราย และมีโรงพยาบาลฯ เปิดใช้งานระบบฯ ไม่น้อยกว่า 250 แห่ง รวมถึงเปิดโอกาสให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์ต่างๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของตลาดซอฟต์แวร์ด้านสุขภาพและบริการสุขภาพต่อไป
“การดำเนินโครงการดังกล่าว ทางซิป้าได้ประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนสามารถใช้บริการได้จริงและครบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทยต่อไป” นายศุภชัย กล่าวสรุป