สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุ สัญญาณการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมเริ่มชัด หลัง MPI ไตรมาส 2/2559 ขยายตัวร้อยละ 1.5 เป็นผลมาจาก MPI เดือนมิถุนายน 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.82 จาก 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และ อุตสาหกรรมอาหาร ขยายตัว
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาส 2 ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมิถุนายน 2559 ได้ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในบ้าน รถจักรยานยนต์ การขยายตัวดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มมีความชัดเจนขึ้นตามลำดับ
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ MPI เดือน มิถุนายน 2559 เป็นบวก ได้แก่
รถยนต์ มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าประเภทรถปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งขนาดใหญ่
เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน มีการผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินค้าประเภทคอนเดนซิ่งยูนิต และแฟนคอยล์ยูนิต เนื่องจากอากาศที่ร้อนมากขึ้นทำให้เครื่องปรับอากาศมีความต้องการมากขึ้น นอกจากนี้ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมากมีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เครื่องสำอาง มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.01 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์สบู่และเครื่องบำรุงผิว ผงซักฟอก ยาสระผม น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม และแป้งฝุ่น
รถจักรยานยนต์ มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นใน 2/2559 ได้แก่
อุตสาหกรรมรถยนต์ ในไตรมาส 2/2559 มีการผลิตรถยนต์ประมาณ 486,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.45 โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 187,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.19 และเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณ 287,000 คัน
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาส 2/2559 การผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.61 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.03 เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม ความต้องการ IC คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ในไตรมาส 2/2559 มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.26 การบริโภคและการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.81 ซึ่งคาดว่าตลาดในประเทศจะฟื้นตัวต่อเนื่อง จากอานิสงค์เม็ดเงินลงทุนจากโครงการพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของภาครัฐที่จะส่งผลให้การผลิตเหล็กเส้นในประเทศเพิ่มมากขึ้น