ณ สถาบันไทย-เยอรมัน จ.ชลบุรี กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ สถาบันไทย-เยอรมัน แถลงผลสำเร็จการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรต้นแบบในโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า 3 เครื่อง เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเห็นการผลักดันงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยของรัฐ และภาคเอกชน ในรูปแบบเกลียว 3 ประสาน หรือที่เรียกว่าโมเดล Triple Helix นั้น
นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน กล่าวว่า โครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ด้วยกระบวนการวิศวกรรมสร้างสรรค์คุณค่า เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยการนำเข้าเครื่องจักรกลระบบอัตโนมัติต่างๆ ของประเทศไทยใช้งบประมาณสูงถึง 5 แสนล้านบาท ต่อ ปี จึงเป็นที่มาของแนวทางที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการนำเข้าจึงทำให้เกิดโครงการดังกล่าวขึ้น นอกจากอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร แล้วจะได้องค์ความรู้ของเครื่องมือนั้นในการผลิต โดยมีผู้ประกอบการเป็นต้นแบบในการพัฒนาและขยายผลต่อไปในเชิงพาณิชย์ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรม 4.0 ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นใหม่
นายเอกสิทธิ์ สุโขขนัง หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ตามที่สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดสรรงบประมาณโครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยกระบวนการวิศวกรรมสร้างสรรค์คุณค่า ประจำปี 2558 ให้กับสถาบันไทย-เยอรมัน เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเห็นการผลักดันงานวิจัยลัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยภาครัฐและภาคเอกชน ในรูปแบบเกลียว 3 ประสาน หรือเรียกว่าโมเดล Triple Helix นั้น สถาบันไทย – เยอรมัน ได้พัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรต้นแบบภายใต้โครงการดังกล่าวร่วมกับภาคเอกชน จำนวน 3 เครื่อง ได้แก่
ผลงานชิ้นที่ 1 เครื่องทดสอบหาค่าความอ่อนตัวของยาง เป็นผลงานที่ร่วมทุนวิจัยและพัฒนากับบริษัท เจริญทัศน์ จำกัด เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับหาค่าความอ่อนตัวของยางดิบ ตามมาตรฐาน ASTM D3194 สามารถอ่านค่าที่วัดได้ในระบบตัวเลข (Digital Display) ค่า Resolution เท่ากับ 0.5 หน่วย และใช้เวลาในการทดสอบแต่ละชิ้นตัวอย่าง ไม่เกิน 1 นาที
ผลงานชิ้นที่ 2 เป็นผลงานของห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.เอส.เอ.แมชีนเนอร์รี่ ที่ได้ดำเนินการพัฒนาเครื่องแยกตะกอน ซึ่งเครื่องแยกตะกอน (Decanter) คือ อุปกรณ์ที่ใช้แยก (Separation) ของแข็งแขวนลอยออกจากของเหลว ที่มีการทำงานแบบต่อเนื่อง เหมาะกับของเหลวที่มีปริมาณสารแขวนลอยสูง ข้นหนืดมาก โดยตัวเครื่องมีส่วนประกอบหลักคือ กระบอกที่มีปลายข้างหนึ่งเป็นกรวย วางตัวในแนวนอน ภายในมีเกลียวลำเลียง (Screw Conveyor) การแยกทำได้โดยใช้แรงเหวี่ยงหนีศูนย์ (Centrifugal Force) แยกให้กากตกตะกอนและลำเลียงออกมาทางปลายด้านกรวย มีกำลังการผลิตในการรับของเหลวผ่านเครื่อง 20- 25 ลบ.ม./ชั่วโมง โดยเครื่องแยกตะกอนนี้สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำผลไม้ ใช้แยกกากออกจากน้ำผลไม้ ตลอดจนใช้แยกแป้งหรือสตาร์ซ (Starch) ออกจากน้ำแป้งในอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลังและอุตสาหกรรมผลิตแป้งข้าวเจ้า หรือการแยกตะกอนน้ำเสีย ตะกอนจากน้ำ ในการผลิตน้ำประปาและอุตสาหกรรมผลิตเคมี
ผลงานชิ้นที่ 3 บริษัท บอสเซ่ จำกัด ได้ดำเนินโครงการพัฒนาสร้างเครื่องผลิตไฮโดรเจนและหัวเผาที่ใช้กับพลังงานไฮโดรเจน เพื่อทดแทนแก๊สธรรมชาติ ซึ่งเครื่องผลิตไฮโดรเจนและหัวเผานี้สามารถ Generated Gas Hydrogen ได้ 3 bars ตัวกระบอกสามารถรับแรงดันของ Gas ประมาณ 10 bars ลูกลอย gas meter สามารถรับแรงดันได้ 3.5 – 4 bars เพื่อความปลอดภัย โดยสามารถนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน ซึ่งทาง บริษัท บอสเซ่ จำกัด มีแผนที่จะขยายผลออกจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ด้วยราคาเริ่มต้นที่ 60,000 บาทต่อเครื่อง