เนื้อหาวันที่ : 2016-07-14 14:21:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1798 views

สกว. อัดงบวิจัยและพัฒนา 8 คลัสเตอร์ หวังยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมาย

สกว.ยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยวิจัยและพัฒนา อัดงบ 500 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี พัฒนา 8 คลัสเตอร์ เน้นสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ใหม่ไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. และ รศ. ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “โครงการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยการวิจัยและพัฒนา” ในการประชุมคณะกรรมการหอการค้าไทย ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เพื่อให้กรรมการซึ่งเป็นนักธุรกิจส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศได้รับความรู้และรับทราบความคืบหน้านโยบายต่าง ๆ

ทั้งนี้ สกว.ได้ปรับยุทธศาสตร์การบริหารงานวิจัยเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งจำเป็นต้องปรับยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต สกว.จึงได้ขยายผลการดำเนินงานของฝ่ายอุตสาหกรรมโดยให้ กำหนดโจทย์วิจัยจากความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผ่านกระบวนการสังเคราะห์เพื่อพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัย และสรรหานักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญตรงตามความต้องการ ขณะที่ผู้ประกอบการต้องร่วมทุนอย่างน้อยร้อยละ 20 และจัดสรรทุนวิจัยไปที่นักวิจัยจากภาครัฐที่ดำเนินงานวิจัยตามโจทย์ที่มาจากภาคเอกชน มีโครงการพัฒนานักวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีงบประมาณสนับสนุนการศึกษาด้านความเป็นไปได้ทางการตลาดและการวางแผนธุรกิจ รวมถึงกลไกอื่น ๆ เช่น การนำเสนอผลงานในงานแสดงสินค้าระดับชาติและนานาชาติ

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ ระบุว่า จากนี้งานวิจัยของฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. จะเน้นที่การสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ใหม่ไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการบริการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีแผนการใช้งบประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี ภายใต้ระยะเวลา 5 ปี ซึ่งผลกระทบที่คาดหวังคือ เอกชนที่ร่วมโครงการได้รับผลประโยชน์ประมาณ 3-5 เท่าของงบประมาณโครงการ โดยเทียบกับงบลงทุนจากเอกชน จะได้รับผลประโยชน์คิดเป็น 7.5 เท่าของงบลงทุนใน 1 ปี

ขอบเขตและเป้าหมายการดำเนินงาน แบ่งเป็น 1.กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ 1) เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 40 โครงการ งบประมาณ 88 ล้านบาท 2) อาหารแห่งอนาคต 50 โครงการ งบประมาณ 124 ล้านบาท 3) ยานยนต์และการผลิตสมัยใหม่ 20 โครงการ จำนวน 60 ล้านบาท 2.กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ 1) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 15 โครงการ งบประมาณ 50 ล้านบาท 2) ขนส่งและการบิน 5 โครงการ งบประมาณ 24 ล้านบาท 3) เชื้อเพลิงชีวภาพ 30 โครงการ งบประมาณ 60 ล้านบาท 4) การแพทย์ครบวงจร 10 โครงการ งบประมาณ 34 ล้านบาท 5) ดิจิทัล 40 โครงการ งบประมาณ 60 ล้านบาท