รายงานของสมาคมเครื่องสำอาง เครื่องอาบน้ำ เครื่องหอม และน้ำยาทำความสะอาดของประเทศเยอรมนีระบุว่า“ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นของผู้บริโภค เนื่องจากในปัจจุบันคนหันมาสนใจและใส่ใจกับสุขภาพกันมากขึ้น และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องสารพิษต่าง ๆ หลายบริษัทได้หันมาค้นคว้าวิจัยอย่างจริงจังในด้านความปลอดภัยของสินค้า รวมทั้งการใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ หรือ สมุนไพร บริษัทใหญ่ที่เริ่มขยายสายการผลิตมาผลิตสินค้าจากวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น”
ในระหว่างปี 2555 – 2563 คาดการณ์ว่า ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลร่างกายจะขยายตัวขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.4 ส่วนมูลค่าตลาดของเครื่องสำอาง/แต่งหน้า (Decorative Cosmetics) จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 และมูลค่าตลาดของน้ำหอม จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ตามลำดับ ในปี 2558 สมาคมฯ คาดว่าชาวเยอรมันได้ใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าเพื่อความงามและสินค้าเพื่อการดูแลสุขอนามัย เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปี 2557 ทั้งนี้ จากการประมวลข้อมูลที่ได้จากร้านค้าขายปลีกปรากฏว่า การขายสินค้าดังกล่าวในปี 2558 มีมูลค่า 13.4 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นจาก ปี 2557 ประมาณ 30 ล้านยูโร
“ธุรกิจนี้มีลู่ทางสดใส เพราะเป็นกระแสของตลาดทั่วโลกทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ตลาดใหญ่ของสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลร่างกายประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อังกฤษ บราซิล เป็นต้น เยอรมนีนับเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดและมีศักยภาพมากที่สุดในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป รองลงมาคือ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี และสเปน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ในปี 2557 ยอดขายของสินค้าเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลร่างกายที่ผลิตจากสารธรรมชาติทะลุหลักพันล้านยูโรเป็นครั้งแรก ตัวเลขทางสถิติจากหลายหน่วยงานได้ระบุว่า ยอดขาย 1,009 ล้านยูโร และมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 7.8 ส่วนในปี 2558 แนวโน้มและกระแสของตลาดของสินค้าเครื่องสำอางฯยังดีอยู่ ตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 มูลค่าการขายคิดเป็นเงินประมาณ 1,100 ล้านยูโร จึงนับเป็นสัญญาณการขยายตัวสำหรับสินค้าหมวดนี้ได้อย่างชัดเจน โดยมูลค่าการขายที่เพิ่มขึ้นเกิดจากผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่
ทั้งนี้ ในรอบ 4 เดือนแรกของปี 2559 (ม.ค. – เม.ย.) ไทยส่งออกเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สำหรับดูแลร่างกายไปยังเยอรมนี คิดเป็นมูลค่า 4.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการขยายตัวราวร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 จึงนับเป็นโอกาสทางการตลาดของสินค้าไทย ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตสินค้าในหมวดนี้ นอกจากนั้น ผู้ประกอบการควรศึกษารายละเอียดและพิจารณาพัฒนาธุรกิจให้มีศักยภาพและมีใบรับรองมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice ) เพื่อให้สินค้าวางจำหน่ายในประเทศหรือส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและสวิตเซอร์แลนด์ได้
ที่มารูปและข่าว : กระทรวงพาณิชย์