เนื้อหาวันที่ : 2016-07-06 10:49:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1928 views

คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ (BUSEM) ม.กรุงเทพ ร่วมกับ สสว. วิจัยผู้ประกอบการไทย ชี้โครงสร้างพื้นฐานประเทศสนับสนุนควรสนับสนุนงานวิจัย

          คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ (BUSEM) มหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับสํานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)  จัดทำโครงการการศึกษาเชิงเปรียบเทียบเพื่อการพัฒนา (GEM: Global Entrepreneurship Monitor) ผู้ประกอบการของประเทศไทย  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานภาพและประเมินระดับความเป็นสังคมผู้ประกอบการของประเทศไทย และเพื่อศึกษาทัศนคติความตื่นตัว และการมีส่วนร่วมของประชากรในกิจกรรมด้านการเป็นผู้ประกอบการ จําแนกตามกลุ่มและภูมิภาค ตลอดจนเพื่อศึกษาปัจจัยแวดล้อมเกื้อหนุนต่อการเติบโตของผู้ประกอบการ แนวทางการกําหนดนโยบายและมาตรการในการสนับสนุนการพัฒนาสังคมผู้ประกอบการ และการเสริมสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ โดยมีการศึกษาเปรียบเทียบกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการของประเทศไทย ปี 2557-2558 การศึกษาเปรียบเทียบกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการของประเทศไทยจําแนกตามภูมิภาคและจําแนกตามภาคการผลิต และการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิก GEM จํานวน 9 ประเทศจากทั่วโลก ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียสิงคโปร์โปแลนด์เยอรมัน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

  

          ดร.สุทธิภัทร อัศวชัยโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ (BUSEM) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า ข้อมูลการวิจัยเชิงประจักษ์ของโครงการวิจัยการสํารวจผู้ประกอบการระดับโลก (The Global Entrepreneurship Monitor: GEM) ซึ่งทางคณะฯ เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวจากประเทศไทยในฐานะสมาชิกของโครงการดังกล่าว จาก 70 ประเทศทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างความเข็มแข็งทางด้านองค์ความรู้ความเป็นผู้ประกอบการ การบริการวิชาการแก่สังคม ประกอบด้วยการวิจัย 2 ส่วนหลัก คือ การสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้เชี่ยวชาญในประเทศ (National Expert Survey: NES) 36 ผู้เชี่ยวชาญ และการสํารวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ (Adult Population Survey: APS) จํานวน  3,000 ตัวอย่าง” 

 

          “อัตราร้อยละกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้น (TEA: Total Early-stage Entrepreneurship Activity) ในปี 2558 (ร้อยละ 16.9) มีแนวโน้มลดลงจากปี 2557 (ร้อยละ 23.3) ขณะที่อัตราร้อยละของผู้ประกอบการที่มีธุรกิจอายุมากกว่า 3.5 ปี ประจําปี2558 (ร้อยละ 33.6) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2557(ร้อยละ 33.1) เล็กน้อย  การลดลงของอัตราร้อยละกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้น (TEA) มาจากการที่ภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยมีการชะลอตัวประกอบกับกลุ่มผู้ประกอบการในระย ะเริ่มต้นในปี 2557 เข้าสู่กลุ่มผู้ประกอบการที่มีธุรกิจอายุมากกว่า 3.5 ปี” ดร.สุทธิภัทร กล่าวเพิ่มเติม

 

นอกจากนี้ผลวิจัยของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ยังพบว่า

 

  • ประเทศไทยมีสภาวะด้านโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศอยู่ในระดับสูง ในขณะที่มีการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐอยู่ในระดับต่ำ
  • สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีสภาวะโดยรวมสำหรับผู้ประกอบการอยู่ในระดับสูงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในด้านการสนับสนุนทางการเงิน นโยบายภาครัฐมาตรการสนับสนุนของภาครัฐการศึกษาด้านความเป็นผู้ประกอบการการถ่ายโอนความรู้เพื่อการวิจัยและพัฒนาและระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ
  • ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญแต่ละประเทศ เห็นว่าประเทศส่วนใหญ่มีความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศโดยมีระดับผลการประเมินอยู่ในระดับสูง และมีเพียงอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เท่านั้นที่มีผลการประเมินอยู่ในระดับปานกลาง
  • ประเทศสิงคโปร์มีความพร้อมด้านการสนับสนุนทางการเงินอยู่ในระดับสูง ในขณะที่เวียดนามมีความพร้อมด้านการสนับสนุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำและยังคงต้องการการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนมากกว่าที่เป็นอยู่
  • มาตรการสนับสนุนของภาครัฐ การศึกษาด้านความเป็นผู้ประกอบการ การถ่ายโอนความรู้เพื่อการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยมีระดับผลการประเมินอยู่ในระดับต่ำในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญไทย ในขณะที่มีเพียงระบบโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศไทยเท่านั้นที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับสูง

  

 

ดร.สุทธิภัทร อัศวชัยโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ (BUSEM) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ