นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของโครงการ SMEs Spring Up ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกอบรมเป็นเวลา 7 สัปดาห์ โดยจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคมนี้ จากที่ได้มีการคัดเลือก ผู้ประกอบการ SMEsรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 30-40 ปี หรือเป็นทายาทธุรกิจ ที่มีความสำเร็จในระดับหนึ่งเข้าร่วมโครงการครอบคลุมหลายสาขากิจการ เช่น อาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ ดิจิทัล แฟชั่น ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการที่เคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นจากทางกระทรวงฯ และผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่น จำนวนรวม 110 ราย ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาทต่อรุ่น และในช่วงปลายปีนี้จะเปิดอบรมอีก 2 รุ่น รวม 200 ราย ประมาณเดือนกันยายน และพฤศจิกายน 2559 ตามลำดับ โดยโครงการดังกล่าวเป็นหลักสูตรการพัฒนา SMEs ระดับสูงสุดเกิดขึ้นภายใต้คณะกรรมการร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูง ให้กลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสาขาธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่ระดับสากล โดยจะเป็นโครงการต่อเนื่องที่จัดเป็นประจำทุกปี
“ผมมั่นใจว่า SMEs ทุกคนที่เข้าร่วมในโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ 100% ด้วยตัวของเค้าเองอยู่แล้ว แต่กระทรวงฯจะเติมเต็มแนวคิดในการพัฒนาแบบก้าวกระโดดเข้าไปเพื่อก้าวสู่ระดับโลก โดยวิทยากรที่เราเชิญมาให้ความรู้ เรียกได้ว่า เป็นบุคลากรชั้นนำของประเทศไทย หรือแม้แต่ SMEs ที่ประสบความสำเร็จมาบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้กรณีศึกษาและไปดูงานเพื่อให้เห็นเชิงประจักษ์ พร้อมกับมีทีมนักวิชาการมืออาชีพช่วยเป็นพี่เลี้ยง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์แนวคิด Spring Up ของแต่ละราย และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจให้เชื่อมโยงกัน โดยการพัฒนา SMEs แบบก้าวกระโดดนั้น ก็จะมาจากแนวคิดและประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมโครงการเองว่าควรเป็นอย่างไร โครงการดังกล่าวจะช่วยเปิดมุมมองให้กว้างขึ้นและจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ SMEs รายอื่นว่า SMEs ทุกรายสามารถประสบความสำเร็จได้” ปลัดสมชาย กล่าว
เช่นเดียวกับปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจอาหารของไทย คือ การก้าวเข้ามาของนักธุรกิจรุ่นใหม่ (Young Blood) ที่อาจเข้ามารับช่วงต่อทางธุรกิจจากรุ่นพ่อ และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ โดยเริ่มต้นจากการเป็น Start Up ซึ่งจุดแข็งของคนกลุ่มนี้ คือ การศึกษาดี คิดนอกกรอบ และกล้าตัดสินใจ ประกอบกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงทำให้มองเห็นโอกาสในเชิงธุรกิจ ส่งผลให้มีธุรกิจก้าวเข้ามาเป็นแถวหน้าในแวดวงอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว เช่น
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า ในปี 2560 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้รับงบประมาณ 80 ล้านบาท มีเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 4 พันราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเทคสตาร์ทอัพ 900 ราย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการสร้างธุรกิจด้วยนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ กลุ่มผู้ประกอบการทั่วไป หรือเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ 2.8 พันราย และกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่เริ่มต้นทำธุรกิจอีก 300 ราย โดยในกลุ่ม“เทค สตาร์ทอัพ”ใช้งบประมาณต่อหัวประมาณ 4-5 หมื่นบาท เน้นด้านบริหารจัดองค์กร และเทคโนโลยี แต่จะเกิดเป็นธุรกิจใหม่ได้น้อยกว่าการสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพทั่วไป ที่ใช้งบประมาณต่อหัวประมาณ 2-3 หมื่นบาท ซึ่งที่ผ่านมามีอัตราความสำเร็จเมื่อจบโครงการ อยู่ที่ 20% ที่ผ่านมาธุรกิจใหม่ที่ประสบความสำเร็จ เกิดจากการมีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง มีความมุ่งมั่น และจัดทำบิสซิเนสโมเดลที่ถูกต้อง ส่วนพวกที่ล้มเหลว เกิดจากการจัดทำบิสสิเนสโมเดลไม่ถูกต้อง ดังนั้น โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบารใหม่ของกระทรวงฯ จึงเน้นจัดระบบความคิดใหม่ สินค้าต้องตอบโจทย์ว่าจะขายใคร และมีแผนธุรกิจที่ชัดเจนก็จะทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ
นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังมีนโยบายปฏิรูปภาคอุตสาหกรรมครั้งใหญ่โดยยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามแนวทางประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล โดยมีกรอบการดำเนินงาน 3 ด้านด้วยกัน ดังนี้
1.การปฏิรูปอุตสาหกรรม ประกอบด้วย (1) การปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยการเพิ่มศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) นำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรมอนาคต (2) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถสู่ SMEs 4.0 มีการเชื่อมโยง SMEs กับวิสาหกิจขนาดใหญ่ การสร้างผู้ประกอบการที่ชาญฉลาด(Smart Enterprises) ซึ่งขับเคลื่อนธุรกิจด้านความรู้ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแตกต่าง และยกระดับ OTOP สู่วิสาหกิจขนาดเล็กที่ฉลาด (Smart Micro-Enterprises) สามารถปรับตัวและใช้เทคโนโลยีความรู้มาช่วยในการดำเนินธุรกิจ และ (3) การยกระดับผลิตภาพ มาตรฐานและนวัตกรรมในสถานประกอบการ การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รวมถึงส่งเสริมการผลิตสีเขียว และส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม เพื่อต่อยอดเพิ่มมูลค่าไปสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์
2.การปฏิรูปนิเวศอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน/เขตเศรษฐกิจพิเศษ/นิคมอุตสาหกรรม พัฒนาทุนมนุษย์ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ระบบความร่วมมือแบบประชารัฐ มีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน ภาคการเงิน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย และปรับกลไกภาครัฐ กฎระเบียบ ให้เอื้อต่อการค้าและการลงทุน
3.การสร้างความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไทยกับเศรษฐกิจโลก ด้วยการเชื่อมโยงการผลิต/การตลาดโดยใช้ดิจิทัล การส่งเสริมและพัฒนาคลัสเตอร์ใหม่ที่เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต การค้าและการลงทุนในภูมิภาค
รูปและที่มาข่าว : กระทรวงอุตสาหกรรม