เนื้อหาวันที่ : 2016-06-24 13:15:17 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2396 views

การใช้โฟม EPS ในการซ่อมคอสะพานทรุด

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

         

เทคนิคธรณี มจธ.เผยข้อมูลวิจัยใช้โฟมอีพีเอสในการซ่อมคอสะพานทรุดในประเทศไทย ดีและคุ้มกว่าวิธีใช้ยางมะตอยถมคอสะพาน ชี้วิธีเก่าเป็นตัวเร่งให้เกิดการทรุดตัว และทำให้คอสะพานเสียหายหนักกว่าเดิม

ผศ.ดร.สมโพธิ อยู่ไว หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเทคนิคธรณี  ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผู้วิจัยและพัฒนาการนำโฟมอีพีเอสมาใช้ในการซ่อมคอสะพานในประเทศไทย เปิดเผยว่า สะพานเก่าที่มีการก่อสร้างมานานมักจะมีช่วงคอสะพานที่สั้น และมักจะเกิดปัญหาการทรุดตัวของคอสะพานบ่อยครั้ง ซึ่งการแก้ไขปัญหาคอสะพานทรุดในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้ยางมะตอยมาเททับเพื่อให้พื้นถนนได้ระดับ แก้ปัญหาการต่างระดับของคอสะพานจนทำให้รถที่สัญจรไปมาเกิดการกระโดดเมื่อผ่านคอสะพาน แต่การแก้ไขปัญหาดังกล่าวมักจะไม่ถาวร เพราะเมื่อใช้ไปสักพักอาการทรุดตัวมักจะเกิดขึ้นอีกทุกๆ ปี และยิ่งใช้ยางมะตอยเททับเรื่อยๆ ยิ่งจะทำให้เกิดความเสียหายที่คอสะพาน ซึ่งอาจมีเสาเข็มหักขาดด้านใต้หรือแผ่นพื้นรองรับเสาเข็มมีความเสียหาย อันเนื่องมาจากการกดทับบวกกับน้ำหนักของยางมะตอย

“วิธีดังกล่าวดูเหมือนเป็นการซ่อมที่ทำกันมากเพราะทำง่าย ปิดการจราจรไม่นานก็เสร็จแต่อาจจะต้องทำบ่อยเพราะคอสะพานจะทรุดลงเรื่อยๆ หากจะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุจะต้องมีการรื้อและทำใหม่ เอาทรายเก่าออกตอกเสาเข็มใหม่และปรับให้คอสะพานมีค่าความชันหรือสโลปที่ยาวขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะต้องปิดการจราจรนาน เสียพื้นที่จราจร และใช้งบประมาณสูง ถ้าจะให้ทรุดตัวน้อยลงโดยประหยัดเวลา และงบประมาณจะต้องใช้วัสดุเบาลงไปลดการทรุดตัวลงในอนาคต”

ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของวิศวกรรมเทคนิคธรณี มจธ. มากว่า 2 ปี พบว่าโฟม EPS มีคุณสมบัติที่ดีและสามารถนำมาใช้ในการซ่อมคอสะพานได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในต่างประเทศที่มีพื้นดินอ่อน นิยมนำโฟมอีพีเอส มาใช้ในการก่อสร้างถนน และบริเวณเชิงลาดคอ คุณสมบัติมีน้ำหนักเบากว่าดินลูกรังถึงร้อยเท่า เมื่อเทียบกันในปริมาณที่เท่ากัน จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาดินทรุด หรือดินไถล ถนนจึงไม่ทรุดตัว สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกของยานพาหนะได้ดีกว่าและมีราคาถูก ประหยัดเวลาในการก่อสร้างและงบประมาณในการซ่อมคอสะพาน เมื่อเกิดการทรุดตัว

 

หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเทคนิคธรณี เปิดเผยว่า สิ่งที่มจธ.ศึกษาวิจัยอันดับแรกคือ ค้นหาวิธีในการซ่อมคอสะพานก่อนว่าควรจะใช้วิธีไหนเพราะอะไร และวิธีไหนดีและเหมาะสมที่สุดกับประเทศไทย ซึ่งมีทั้งวิธีรื้อทิ้งทำใหม่ การสร้างสะพานคร่อมขึ้นไปอีกชั้น การใช้คอนกรีตเบา เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาค้นคว้า ก็พบว่า โฟมมีความเหมาะสมที่สุด และมีความคุ้มค่า คุ้มเวลามากที่สุด จากนั้นจึงเริ่มศึกษาวิจัยเจาะลึกไปที่ตัววัสดุ  คือโฟม เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าโฟมรับน้ำหนักได้จริงหรือไม่ ถูกแรงกระแทกซ้ำไปซ้ำมาจะเป็นอย่างไร โดยนำมาทดลองกดในห้องปฏิบัติการซ้ำไปซ้ำมา เพื่อทดสอบการรับน้ำหนักของโฟม

“พอเราทดสอบได้แล้วว่าคุ้มจริง ทางกรมทางหลวงก็ให้เราออกแบบวิธีการซ่อม และควบคุมการซ่อมจริงที่ถนนมอเตอร์เวย์ พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ติดตามผลและเก็บข้อมูลอีก 1 ปี เพื่อทำออกมาในลักษณะคู่มือแนะนำการซ่อมคอสะพานโดยใช้โฟมอีพีเอส เพื่อให้หน่วยงานใดก็ตามที่ต้องซ่อมคอสะพานด้วยโฟมหยิบคู่มือนี้ไปใช้ โดยคู่มือจะชี้ให้เห็นขั้นตอน สเป็คต่างๆ และข้อพึงระวังมีเรื่องใดบ้าง ทั้งหมดเป็นเรื่องของการสร้างองค์ความรู้เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าวิธีการใช้โฟมอีพีเอสไปใช้ในการซ่อมคอสะพานนั้นทำได้จริงและคุ้มค่า”

สำหรับในเชิงเศรษฐศาสตร์ในการซ่อมคอสะพานด้วยโฟมนั้น ผศ.ดร.สมโพธิ ประมาณการว่า หากใช้ในการซ่อมถนน 4 เลน ราคาซ่อมด้วยโฟมจะอยู่ที่ฝั่งละประมาณ 10 ล้านบาท อยู่ได้นานประมาณ 15 ปี เฉลี่ยต่อปีประมาณ 6 แสนบาท หากคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์การใช้โฟมจะถูกกว่า อีกทั้งราคาโฟมยังมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ อีกด้วย ส่วนการใช้ยางมะตอยถมที่คอสะพานเฉลี่ยทุกๆ 2 ปี การใช้ยางมะตอยซ่อมครั้งหนึ่งต้องใช้เงินหลักล้านเช่นกัน

ในประเทศไทยใช้โฟมอีพีเอสในการก่อสร้างถนนสายพระราม 5 และบางช่วงของถนนสายลาดหวายบางพลี อำเภอคลองด่าน และในอนาคตอาจได้เห็นการนำโฟมอีพีเอสไปซ่อมถนนมอเตอร์เวย์บริเวณพระรามเกล้า-สุวรรณภูมิก็เป็นได้