เนื้อหาวันที่ : 2016-06-17 15:15:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3201 views

วิศวะ มจธ.งัดกลยุทธ์ลบข้อจำกัดการวิจัยระดับอุดมศึกษา

วิศวกรรมศาสตร์ มจธ. งัดกลยุทธ์การทำวิจัยแบบใหม่ ฝึกเด็กให้รู้จักพัฒนาและต่อยอดเครื่องมือทดลองด้วยตัวเอง เพื่อลบข้อจำกัดงานวิจัยของนักศึกษา  อยากรู้อยากวิจัยเรื่องอะไรก็ออกแบบและพัฒนาเครื่องมือทดลองใหม่ หรือต่อยอดเครื่องมือทดลองที่มีอยู่เดิมเอง นอกจากจะสร้างทักษะทางช่างให้เด็กยุคใหม่แล้ว ยังฝึกให้เด็กได้พัฒนาตรรกะทางความคิดอีกด้วย

วิศวกรรมโยธา ครอบคลุมการก่อสร้างตึกและอาคาร รวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น เขื่อน คลอง สะพาน ถนน และระบบขนส่งอื่น ๆ ตลอดจนงานสำรวจและจัดทำแผนที่ การวิเคราะห์ทางธรณีและชลศาสตร์ การศึกษาทางด้านนี้จึงนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในงานโยธานั้น มีความก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้น สถาบันการศึกษาหลายแห่งจึงได้มีพัฒนาการสอนทางด้านวิศวกรรมโยธาให้มีความทันสมัยเพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

รศ.ดร.วรัช ก้องกิจกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การศึกษาวิจัยด้านวิศวกรรมโยธาในต่างประเทศนั้น มีการใช้เครื่องมือทดลองและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการทำวิจัยเพื่อหาองค์ความรู้ในการพัฒนาประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายๆ แห่งก็มีทิศทางแบบนี้เช่นกัน แต่ปัญหาหนึ่งที่พบอยู่บ่อยๆ คือ มหาวิทยาลัยมีเครื่องมือทดลองที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ราคาสูงแต่ขาดแคลนคนที่ใช้งานเป็น หรือเมื่อใช้งานเป็นก็ทำได้แต่เพียงการทดสอบแบบเดิมๆ ตามที่ระบุในคู่มือการใช้งานเท่านั้น ไม่มีใครกล้าประยุกต์ดัดแปลงต่อยอดเครื่องมือที่มีอยู่แล้วเพื่อการทำวิจัยตอบโจทย์ใหม่ๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ใช้ไม่มีความรู้ด้านกลไกการทำงานของเครื่องมือทดลองที่ซื้อมา หรือไม่ก็กลัวว่าการดัดแปลงจะทำความเสียหายให้กับเครื่องมือทดสอบ

“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของการเรียนวิศวะ ก็คือการได้มาฝึกทักษะงานช่าง และยิ่งเรียนวิศวกรรมโยธาด้วยแล้ววิชาชีพก็คือนายช่าง ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนามาไกลมาก มหาวิทยาลัยต่างๆ มีอุปกรณ์และเครื่องมือทดลองนำเข้าราคาสูงให้นักศึกษาได้ใช้ในการทำวิจัย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าภูมิใจของเด็กสมัยนี้ แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง เพราะความที่เทคโนโลยีมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้นและมาพร้อมกับการใช้งานที่ซับซ้อน แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจและรู้จักที่จะใช้งานเครื่องมือเหล่านั้นได้อย่างเต็มศักยภาพจริงๆ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ในปัจจุบัน มีทักษะทางด้านช่างน้อยลง ดังนั้นหากจะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ใช่แค่เราจะสอนให้เด็กใช้เทคโนโลยีเป็น แต่เราต้องฝึกให้เข้าใจหลักการทำงานและกลไกของเทคโนโลยีด้วย และในที่สุดจึงจะสามารถสร้างเทคโนโลยีที่ดีขึ้นมาได้เอง พัฒนาหรือต่อยอดเครื่องมือทดลองที่มีอยู่แล้วเพื่อการทำวิจัยในโจทย์ที่ตนเองสนใจได้เองต่อไป

รศ.ดร.วรัช กล่าวเพิ่มเติมว่า วิศวกรรมโยธาที่ มจธ.นั้นมีทั้งระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก แบ่งเป็นสาขาวิชาต่างๆ อาทิ สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง สาขาวิศวกรรมเทคนิคธรณี สาขาวิศวกรรมทรัพยากร น้ำ สาขาวิศวกรรมขนส่ง สาขาวิศวกรรมสำรวจ และสาขาวิศวกรรมการบริหารก่อสร้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาไหน สไตล์การเรียนการสอนของ มจธ. จะเน้นที่การลงมือปฏิบัติ ฝึกให้นักศึกษาออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือขึ้นได้เองเพื่อตอบโจทย์ของงานวิจัยที่ต้องการ

“ยกตัวอย่าง Lab วิศวกรรมเทคนิคธรณี งานส่วนใหญ่เน้นไปที่การทดสอบคุณสมบัติวัสดุ เช่น ดิน หิน ทราย แอสฟัลต์ วัสดุเสริมแรงสังเคราะห์ หรือการจำลองโครงสร้างดินต่างๆ เช่น โครงสร้างถนน อุโมงค์ เสาเข็มดินซีเมนต์ ถึงแม้เราจะมีเครื่องมือมากมายให้เด็กใช้ แต่มันไม่ได้ทำให้เด็กเกิดทักษะทางความคิด เราต้องสอนให้เด็กมีตรรกะมีทักษะทางความคิด เวลาที่เราทำงานวิจัยถ้าสงสัยอยากรู้อะไร เราก็จะพัฒนาหรือดัดแปลงเครื่องมือขึ้นมาเพื่อให้สามารถทดสอบในสิ่งที่เราอยากรู้ได้ กระบวนการแบบนี้ค่อนข้างใหม่สำหรับวิศวกรรมโยธาในประเทศไทย แต่เป็นหลักปฏิบัติของการทำงานวิจัยทางวิศวกรรมเทคนิคธรณีที่ใช้กันในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ทำให้ไม่มีข้อจำกัดในการศึกษาวิจัย หากเราเข้าใจเทคโนโลยีเราก็จะสามารถดัดแปลงอุปกรณ์ที่มีอยู่เดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ได้ ปัจจุบันใน lab วิจัยวิศวกรรมเทคนิคธรณีของ มจธ. มีเครื่องมือเพียงไม่กี่ชิ้นเท่านั้นที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่วนอีกหลายสิบชิ้นที่ใช้กันอยู่นั้น เกิดจากการต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ และพัฒนาขึ้นใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของเราได้อย่างครอบคลุม ซึ่งกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ไม่ใช่เพียงแค่การศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบเท่านั้นแต่เพื่อให้เกิดองค์ความรู้และพัฒนาทักษะทางความคิดระหว่างทางมากที่สุดอีกด้วย