สศอ.จับมือ 3 หน่วยงาน เร่งจัดทำแผนพัฒนาระบบไฟฟ้ารองรับการพัฒนา Super Cluster อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม แก้ปัญหาไฟตก ไฟดับ และสร้างจุดแข็งให้กับประเทศไทยในการดึงการลงทุน
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการคลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการคลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ โดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI ) ได้ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดทำแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าเชิงรุกเพื่อรองรับการขยายตัวการลงทุนของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม และสร้างจุดแข็งให้กับประเทศไทยในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ สศอ. ได้กำหนดกรอบรายชื่อโรงงานขนาดใหญ่ในพื้นที่เป้าหมายเรียบร้อยแล้วสำหรับใช้ในการสำรวจข้อมูลปัญหาระบบไฟฟ้าขัดข้องประมาณ 100 โรงงาน และจะเริ่มทำการสำรวจในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 นี้ เพื่อเป็นข้อมูลให้ กฟภ.ใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถจัดทำแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าในพื้นที่เป้าหมายทั้ง 7 จังหวัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2559 และในเบื้องต้น กฟภ. ได้ส่งทีมงานเข้าไปตรวจสอบระบบไฟฟ้าและให้คำแนะนำด้านคุณภาพไฟฟ้ากับโรงงานในพื้นที่เป้าหมายบ้างแล้ว
นายศิริรุจ กล่าวว่าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคมเป็นคลัสเตอร์เป้าหมายในระยะแรกและได้ถูกกำหนดให้เป็น Super Cluster เนื่องจากเป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์การลงทุนสูงสุด โดยมีพื้นที่เป้าหมายครอบคลุม 7 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี นครราชสีมา
ที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายของคณะอนุกรรมการคลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม ได้เร่งผลักดันมาตรการสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบไฟฟ้า ซึ่งมีความสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคมที่มีความต้องการระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียรอย่างมาก เนื่องจากกระบวนการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีการควบคุมปริมาณอนุภาคและสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ไม่ให้เกินระดับที่กำหนดไว้ ทั้งยังรวมไปถึงการควบคุมปัจจัยเสริมต่างๆ ได้แก่ คุณลักษณะและความเร็วของลม อุณหภูมิ แรงดัน และระดับความชื้นสัมพัทธ์ด้วย คุณภาพการผลิตที่ต้องใช้เครื่องจักร high precision มีระบบควบคุมการผลิตด้วยคอมพิวเตอร์
ฉะนั้นการที่ไฟฟ้าตกหรือกระพริบเพียงเล็กน้อย ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตโดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ในขั้นตอนการผลิตอาจจะได้รับความเสียหายทั้งหมด และอาจต้องเริ่มการผลิตสินค้านั้นใหม่ทั้งล็อต และการเปิดเครื่องจักรใหม่อีกครั้งจะต้องใช้เวลา set up time ไม่น้อยกว่า 2-3 ชั่วโมงถึงจะสามารถเริ่มทำงานได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต และการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ ดังนั้นการจัดทำแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมดังกล่าวจึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญเป็นอย่างมาก