โรงไฟฟ้าชีวมวล เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ พิจิตร เป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้ากำลัง 20 เมกะวัตต์ จากเชื้อเพลิงแกลบ ผลักดันนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมใช้พลังงานทดแทนที่มีอยู่ในธรรมชาติให้มาก
|
โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ พิจิตร โครงการผลิตกระแสไฟฟ้ากำลัง 20 เมกะวัตต์ จากเชื้อเพลิง แกลบ โดยบริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ จำกัด ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ โดยเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กฟผ. ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา พร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี ณ ที่ตั้งโครงการ ต.หอไกร อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ในวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2549 |
จากการที่ บริษัท เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ จำกัด โดยการบริหารงานของ หม่อมหลวง ชนะพันธุ์ กฤดากร ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อช่วยลดสถานการณ์ขาดแคลนแหล่งพลังงาน ฟอสซิลในประเทศ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน ที่มีปริมาณลดน้อยลง รวมทั้งวิกฤตราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงมีนโยบายสนับสนุน และส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนที่มีอยู่ในธรรมชาติให้มากขึ้น เพื่อเป็นพลังงานทางเลือก และลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ |
บริษัทฯจึงได้ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นที่ ต.หอไกร อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร โดยใช้ แกลบ เป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากเล็งเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีการปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้มีแกลบจากการสีข้าวปีละประมาณ 5-6 ล้านตัน จึงได้นำ แกลบ ที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากการสีข้าวมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานไฟฟ้า จนประสบความสำเร็จ สามารถผลิตไฟฟ้ากำลังการผลิต 20 เมกกะวัตต์ และได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement – PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. (EGAT) เป็นเวลา 25 ปี |
โดยขณะนี้โครงการได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ และเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของกฟผ. อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2548 บริษัทฯจึงจัดพิธีเปิดโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ พิจิตร อย่างเป็นทางการ โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี และยังได้รับเกียรติจากเจ้าชาย บูเลย์ ฮิแซม เบน อับลัลลาห์ (Prince Moulay Hicham Ben Abdallah) เจ้าของบริษัท Al Tayyar หนึ่งในผู้ลงทุนของบริษัทฯ จากประเทศโมร็อคโค เสด็จมาร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 20 เมกกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เอ.ที.ไบโอพาวเอร์ พิจิตร บริษัทฯคาดว่าจะสามารถช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศได้ 800 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเตา และ 1,700 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันดีเซล |
ในส่วนผู้ร่วมลงทุนของโครงการประกอบด้วย - บริษัท ชูบุ อีเลคทริค พาวเวอร์ คัมปะนี อินเตอร์เนชั่นแนล บี.วี. (CEPCOI) จำกัด บริษัทในเครือของ บริษัท ชูบุ อีเลคทริค พาวเวอร์ คัมปะนี อินคอร์ปอร์เรท ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าใหญ่เป็นอันดับสาม ของประเทศญี่ปุ่น จากประเทศญี่ปุ่น บริษัท อัลเทยาร์ เอนเนอร์ยี ลิมิเต็ด กองทุนอิสระเพื่อพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไพรเวท-เอนเนอร์ยี มาร์เก็ต ฟันด์ กองทุนเพื่อการพัฒนาด้านพลังงาน จากประเทศฟินแลนด์ ฟินนิช ฟันด์ ฟอร์ อินดัสเตรียล คอร์ปอร์เรชั่น ลิมิเต็ด เป็นองค์กรที่มีชื่อเสียงของประเทศฟินแลนด์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการลงทุนระยะยาวในโครงการต่างๆ ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา บริษัท แฟลกชิพ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้บุกเบิกริเริ่มพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า ชีวมวล เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์จากประเทศไทย และโรลส์-รอยส์ พาวเวอร์ เวนเจอร์ส ลิมิเต็ด ผู้ร่วมพัฒนางานโครงการพลังงานทั่วโลกจากประเทศอังกฤษ |
|
สำหรับกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงจากแกลบ เริ่มด้วยการบดแกลบให้เป็นผงละเอียด จากนั้นพ่นแกลบเข้าไปในเตาเผาไหม้ และนำความร้อนไปต้มน้ำให้เดือด เพื่อให้ได้ไอน้ำไปหมุนกังหัน (Turbine) และกังหันไปฉุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ก่อให้เกิดแรงเหนี่ยวนำได้เป็นกระแสไฟฟ้า ก่อนจะส่งเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯต่อไป โดยกระบวนการผลิตทั้งหมด โรงไฟฟ้า ชีวมวล เอ.ที.ไบโอพาวเวอร์ พิจิตร เป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกของไทย ที่ใช้เทคโนโลยีระบบเผาไหม้ลอยตัว (Suspension Fired) ถึงแม้จะต้องลงทุนสูง แต่สามารถเผาไหม้เชื้อเพลิงได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ก่อให้เกิดควันดำ จึงไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งโครงการได้จัดระบบการป้องกันและควบคุมมลภาวะไว้อย่างเพียงพอ อาทิ จัดทำบ่อพักน้ำที่บำบัดแล้วให้ระเหยไปเองตามธรรมชาติ โดยจะไม่มีการปล่อยน้ำออกนอกบริเวณโรงไฟฟ้า มีการขึงตาข่ายไนล่อนล้อมรั้วกองแกลบ และปลูกต้นไม้ใบหนาล้อมรอบโครงการถึง 3 ชั้น เพื่อกันลมพัดแกลบออกไปนอกโครงการ รวมทั้งมีการดักจับควัน ฝุ่น และเถ้าแกลบ ด้วยระบบไฟฟ้าสถิตย์ (Electrostatic Precipitator - ESP) ที่มีประสิทธิภาพสูงถึง 99.5% จึงสามารถควบคุมการปล่อยมลสารได้เป็นอย่างดี มีเครื่องดูดซับเสียงครอบเครื่องจักร เพื่อป้องกันเสียงดังรบกวนชุมชนรอบโครงการ และด้วยเทคโนโลยี Suspension Fired ทำให้เถ้าที่ได้จากการเผาไหม้สามารถนำไปใช้ทดแทนในอุตสาหกรรมการผลิตซิเมนต์ และเนื่องจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง จึงเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก๊าซดังกล่าวนั้นเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming) ดังนั้น โครงการจึงกำลังดำเนินการขออนุมัติจากรัฐบาลเป็นโครงการตามหลักกลไกสะอาด (Clean Development Mechanism หรือ CDM Project ) |
นอกจากจะเป็นโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสภาพแวดล้อมแล้ว บริษัทฯได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยคืนกำไรให้แก่ชุมชนในรูปของ กองทุนพัฒนาชุมชนและสิ่งแวดล้อม ปีละ 1 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 25 ปี และเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ชุมชน บริษัทฯ ยังได้จัดตั้ง กองทุนประกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมจำนวนเงินทุน 5 ล้านบาท สำหรับชดเชยความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้า นอกจากนั้นชุมชนยังมีส่วนร่วมในการดูแลและตรวจสอบการทำงานของโรงไฟฟ้าในรูปแบบของคณะกรรมการไตรภาคี อันประกอบด้วยผู้แทนจากชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และฝ่ายโรงไฟฟ้า จากความมุ่งมั่นที่จะให้ชุมชนได้เข้ามีส่วนร่วมกับโครงการอย่างต่อเนื่อง ทำให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานได้มอบรางวัลการจัดการสิ่งแวดล้อมและชุมชนดีเด่นแก่บริษัทฯ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา |