เนื้อหาวันที่ : 2016-06-03 09:19:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 801 views

อัคราฯ มอบเงินกองทุนพัฒนาท้องถิ่น 45 ล้านบาท

บมจ. อัครา รีซอร์สเซส ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี นำโดย นายสิโรจ ประเสริฐผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน นำเงินสนับสนุน กองทุนพัฒนาท้องถิ่น โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร สมทบโดยบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มูลค่า 45 ล้านบาท ให้ชาวบ้านรอบเหมืองฯ ในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลกได้ใช้พัฒนาท้องถิ่น มามอบให้กับนายพิษณุ  เสนาวิน  รองผู้ว่าราชการจัหวัดพิจิตร โดยมีนายเกียรติชัย ตุลาธรรมกุล อุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร และตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้านรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี ร่วมเป็นสักขีพยาน

นายสิโรจ ประเสริฐผล ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม้เหมืองแร่ทองคำชาตรี ภายใต้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้รับการต่ออนุญาตต่ออายุโรงประกอบโลหกรรมถึงเพียงสิ้นปี 2559 นี้ แต่ทางบริษัทฯ ยังคงเดินหน้าดูแลชุมชนต่อไป และดำเนินงานตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเหมือนที่ผ่านมา ตามพันธสัญญาที่เคยให้ไว้ ในวันนี้บริษัทฯ จึงได้นำเงินมูลค่า 45 ล้านบาท เข้าสู่กองทุนพัฒนาท้องถิ่นฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของผู้รับใบอนุญาตประกอบโลหกรรมแล้ว ยังถือเป็นความเต็มใจที่บริษัทฯ ได้มอบให้กับชุมชน

“ด้วยวัตถุประสงค์เบื้องต้นของกองทุนพัฒนาท้องถิ่นฯ คือการได้นำเงินจำนวนนี้ไปพัฒนาด้านต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนรอบๆ เหมืองแร่ทองคำชาตรี ซึ่งถือเป็นบ้านของพวกเราเช่นกัน ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากองทุนนี้จะมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนรอบเหมืองอย่างแท้จริง และทั่วถึง หวังว่าเงินสนับสนุนจำนวนนี้จะช่วยต่อยอดโครงการส่งเสริมอาชีพต่างๆ ที่เราได้ริเริ่มกันไว้ได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

นายสิโรจ ยังกล่าวต่อไปอีกว่า เงินสนับสนุนจำนวนนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาที่บริษัทฯ ยินดีทำเพื่อชุมชน และถือเป็นเรื่องน่าเสียดายหากกองทุนนี้ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายกองทุน และอีกหลายโครงการที่บริษัทฯ สนับสนุนจะต้องสิ้นสุดลงในปี 2559 นี้ เนื่องจากบริษัทฯ ได้วางแผนการพัฒนาชุมชนไว้อีกหลายโครงการเพื่อให้ครอบคลุมการพัฒนาชีวิตของคนในชุมชนในทุกๆ ด้าน อาทิ การสนับสนุนด้านการศึกษา การบรรเทาภัยแล้ง การปรับปรุงคุณภาพน้ำดื่ม และการส่งเสริมกลุ่มอาชีพ ควบคู่ไปกับการดำเนินธุกิจไปจนสิ้นอายุเหมืองในปี 2571

“ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากหากการสนับสนุนต่างๆ ต้องหยุดลง เราไม่อยากให้การสนับสนุนกองทุนพัฒนาท้องถิ่นฯ ในครั้งนี้คือครั้งสุดท้าย บริษัทฯ ยังหวังว่าเราจะสามารถเปลี่ยนใจให้รัฐบาลทบทวนคำสั่งให้ปิดเหมืองในสิ้นปี 2559 หรือยกเลิกคำสั่งดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ดังที่เราได้พูดอยู่เสมอว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา เราประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดี มีการช่วยเหลือเกื้อกูลมาตลอด การมอบเงินสนับสนุนกองทุนพัฒนาท้องถิ่นฯ ในครั้งนี้จึงถือเป็นความภาคภูมิใจ ความยินดี ของเราเช่นกัน ในการที่จะได้เห็นโครงการต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เราได้ริเริ่มด้วยกันมาจะได้รับการสนับสนุนและต่อยอดต่อไป เพื่อให้ประชาชนในชุมชนรอบเหมืองฯ ได้มีอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสิโรจน์ กล่าวย้ำความตั้งใจในการดูแลชุมชนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหมือนที่ผ่านมาจนวินาทีสุดท้าย

ด้าน นางบุญมา หมื่นจงดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านวังชะนางใต้ ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า วันนี้รู้สึกดีใจมากที่ได้มาเป็นสักขีพยานและได้ทราบว่าเงินจำนวน 45 ล้านบาทที่สนับสนุนโดยบริษัท อัครา นี้จะถูกนำมาจัดสรร เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาชุมชนต่อไป ตนเองในฐานะผู้ใหญ่บ้านซึ่งรับผิดชอบโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามรอยเศรษฐกิจพอเพียง มองว่าโครงต่างๆ เหล่านี้จะได้รับการสนับสนุน ช่วยให้ลูกบ้านตั้งต้นได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไป ทั้งนี้จะนำข่าวดีดังกล่าวกลับไปบอกลูกบ้านพร้อมศึกษาหลักการขอใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย

อย่างไรก็ตามนางบุญมา ยังกล่าวเสริมว่าไม่อยากให้การสนับสนุนหยุดอยู่เพียงเท่านี้ ยังอยากให้เกิดการสนับสนุนจากบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ต่อไป จึงอยากวิงวอนให้รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันพิจารณาทบทวนคำสั่งปิดเหมืองในสิ้นปีอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากหากเหมืองฯ ปิดตัวลงจะเกิดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอีกมากมายในพื้นที่อย่างแน่นอน

กองทุนพัฒนาท้องถิ่น โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร สมทบโดยบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)เกิดขึ้นตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตโรงประกอบโลหะกรรมโดยเงินอุดหนุนกองทุน คิดจากสัดส่วนปริมาณโลหะทองคำที่ผลิตได้ในอัตรา 3 บาทต่อกรัม หรือไม่น้อยกว่าปีละ 15 ล้านบาท ตลอดระยะเวลามีการประกอบโลหกรรม โดยการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาท้องถิ่นฯ นี้เป็นไปตามแนวทางที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่กำหนด เริ่มตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มได้ใบประกอบโลหะกรรมใหม่จนถึงปี 2558 รวมเป็นเงิน 45 ล้านบาท