ไมโครซอฟท์ ตอบรับนโยบายของรัฐบาลที่ตระหนักถึงความจำเป็นในการนำเทคโนโลยีมาเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ เพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ ให้เป็นประเทศที่สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม ข้อมูล ทุนมนุษย์และทรัพยากรอื่น ๆ ด้วยการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาและแสดงนิทรรศการนานาชาติ “Digital Thailand 2016” ไมโครซอฟท์ได้นำเสนอพลังของเทคโนโลยีที่สามารถยกระดับการศึกษาของประเทศไทย ด้วยแนวคิด “Empowering Digital Education” หรือ การเสริมสร้างศักยภาพการศึกษาในยุคดิจิทัล ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 26 – 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
“เป้าหมายหลักของไมโครซอฟท์คือการเป็นกำลังสำคัญให้กับทุกคนและทุกองค์กรบนโลกเพื่อผลสำเร็จที่ดียิ่งขึ้น การร่วมงาน Digital Thailand 2016 ในครั้งนี้ จึงเป็นสิ่งที่ไมโครซอฟท์พร้อมที่จะบอกแก่สาธารณชนว่า เรามุ่งมั่นใช้พลังของเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ด้วยบริการ แพลตฟอร์มและอุปกรณ์ต่างๆ ของไมโครซอฟท์ และนอกจากสื่อการเรียนการสอน ไมโครซอฟท์และพันธมิตรองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้มีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้สอนอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ โดยไม่เพียงแต่มอบประสิทธิภาพที่ดีสำหรับการเรียนการสอนเท่านั้น เรายังร่วมสร้างความตระหนักในพื้นฐานด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวไม่ให้เกิดการละเมิดหรือเกิดอาชญากรรมทางไซเบอร์ให้กับเยาวชนอีกด้วย” นายอรพงศ์ เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
สำหรับพื้นที่นิทรรศการของไมโครซอฟท์ ได้แบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 แกนหลักสำคัญ ได้แก่
1. Interactive Online Learning & Teaching หรือ การเรียนการสอนแบบอินเตอร์แอคทีฟผ่านระบบออนไลน์ คือการใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพและบูรณาการการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล โดนเน้นไปที่ Virtual Classroom หรือ ห้องเรียนเสมือน ด้วยการใช้ออฟฟิศ 365 เพื่อการศึกษา (Office 365 Education) ซึ่งประกอบด้วยแอพพลิเคชั่น Word, Excel, PowerPoint ที่สามารถให้นักเรียนทำงานกลุ่มร่วมกันหรือแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ แอพพลิเคชั่น Skype for Business ช่วยให้การเรียนการสอนผ่านทางไกลมีประสิทธิภาพมากขึ้นและช่วยให้อาจารย์กับนักเรียนได้มีการสื่อสารแบบ 2 ทาง โดยนักเรียนสามารถตอบโต้กับเพื่อนและอาจารย์ได้อย่างสะดวก โดยในห้องเรียน 1 ห้อง จะมีบัญชีผู้เข้าใช้งานได้มากที่สุดถึง 250 คน
2. Cloud for Education และ Public Cloud for Public Good หรือ เทคโนโลยีคลาวด์เพื่อการศึกษา และ เทคโนโลยีคลาวด์สาธารณะเพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นนำเสนอการนำเทคโนโลยีคลาวด์มาใช้เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานไม่ว่าจะเป็นของนักเรียนหรือบุคลากรขององค์กรการศึกษา อาทิ บริการ Azure หรือ Office 365 และสำหรับการใช้เทคโนโลยีคลาวด์สาธารณะเพื่อสาธารณประโยชน์นั้น ไมโครซอฟท์ได้บริจาคซอฟต์แวร์รวมมูลค่าราว 70 ล้านบาท ให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ กว่า 430 แห่งทั่วประเทศ พร้อมการฝึกอบรมเทคโนโลยีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยให้องค์กรเหล่านั้นมีศักยภาพที่เพิ่มขึ้นในการที่จะช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสของตนได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Office 365, Skype และ Sway ช่วยให้องค์กรต่างๆ ทำงานได้สำเร็จรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
3.Teaching & Learning Innovations หรือ นวัตกรรมสำหรับการเรียนการสอน นำเสนอนวัตกรรมและผลงานที่ริเริ่มสร้างสรรค์โดยครูไทยจากโครงการ Microsoft Thailand Innovative Teachers หรือ ครูไทยหัวใจไอที ที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ในการเรียนการสอนในปัจจุบัน เพื่อช่วยแก้ไขข้อจำกัดที่เกิดจากการเรียนการสอนแบบเดิม โดย คุณครูศักดา จันทร์กลั่น จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเพชรบุรี ได้นำเสนอการบูรณาการองค์ความรู้ในวิชาเคมีด้วยการถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมด้วยการนำเสนอผ่าน Word, Excel, PowerPoint, Social Network และแอพพลิเคชั่นในการเรียนการสอนอื่น ๆ มาบริหารจัดการให้นักเรียนวางแผนการทำโครงงานก่อนลงมือปฏิบัติจริง เพื่อลดค่าใช้จ่าย ความผิดพลาดและเพิ่มโอกาสในความสำเร็จของโครงงานมากขึ้น และ คุณครูจักรพงศ์ จันทวงศ์ จากโรงเรียนหางดงราษฎร์อุปถัมป์ จังหวัดเชียงใหม่ ที่นำปัญหาจากการที่เด็กนักเรียนใช้สมาร์ทโฟนในห้องเรียนทำให้ขาดสมาธิในการเรียน จึงได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีการใช้สมาร์ทโฟนเพื่อดึงความสนใจของนักเรียน เช่น ศึกษาระบบการทำงานของร่างกายในรูปแบบ 3 มิติผ่านสมาร์ทโฟน และให้นักเรียนนำเสนอการทดลองผ่าน Sway
4. Learning Everywhere, Anytime หรือ การเรียนรู้ทุกแห่งหน เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ไมโครซอฟท์เล็งเห็นความสำคัญของสันทนาการทางศึกษา (Edutainment) และการเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาบนอุปกรณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนผ่านอุปกรณ์วินโดวส์ 10 ที่ช่วยให้เกิดการเรียนการสอนแบบอินเตอร์แอคทีฟและเรียลไทม์ นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังนำเสนอการประยุกต์เทคโนโลยีร่วมกับแนวคิดการเรียนการสอนในรูปแบบเกม (Game-based Learning) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความน่าสนใจของการเรียนการสอนผ่านแอพพลิเคชั่นสอนคณิตศาสตร์สำหรับเด็กบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 ซึ่งทำงานร่วมกับเครื่อง Kinect ที่มีเซนเซอร์จับการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวได้ออกแบบมาเพื่อสร้างความสนุกสนานในการเรียนรู้ และกระตุ้นให้เด็กมีความกระตือรือร้นมากขึ้น โดยผู้เรียนต้องเคลื่อนไหวท่าทางต่างๆ ตามที่กำหนด เพื่อเลือกคำตอบที่ถูกต้อง
นอกจากการนำเสนอผลงานบนแกนหลักทั้ง 4 ดังที่กล่าวมาแล้ว ไมโครซอฟท์ยังร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดกิจกรรมพิเศษ Hour of Code โดยการสอนเขียนโค้ดเบื้องต้นผ่านเกม Minecraft แก่เยาวชนที่ร่วมงาน เพื่อกระตุ้นความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในกลุ่มเยาวชนไทย ซึ่งการเขียนโค้ดนั้นจะสามารถพัฒนาทักษะพื้นฐานให้เยาวชนในการวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าเยี่ยมชมกิจกรรมเขียนโค้ด และ ลุงพี-ภควัต ลือพัฒนสุข นักพากย์เกมชื่อดังขวัญใจเด็กๆ มาร่วมสร้างสีสันด้วยการพากย์เกมสด Minecraft ในงานด้วย
การเรียนเขียนโค้ดผ่านเกม Minecraft นั้น ได้รับการออกแบบและพัฒนามาเพื่อเยาวชนอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มุ่งให้เยาวชนได้เรียนรู้ทักษะการเขียนโค้ดเบื้องต้น และสัมผัสประสบการณ์เกม Minecraft ในโลก 2 มิติ โดยผู้เล่นจะได้เรียนการเขียนโค้ดผ่านการเก็บบล็อคเพื่อสร้างโค้ดคอมพิวเตอร์ ใน 14 ด่าน แบบไม่จำกัดเวลา เพื่อค้นหาและเรียนรู้คอนเซ็ปต์การเขียนโค้ดตลอดการเล่นเกม
ส่วนในด้านกิจกรรมเสวนาเชิงวิชาการ นางสาวแองเจลา แม็คเคย์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและกลยุทธ์ความปลอดภัยภาครัฐของไมโครซอฟท์ ได้เข้าร่วมการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในด้านความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และการปกป้องคุ้มครองข้อมูลในโลกออนไลน์ ด้วยการกล่าวปาฐกฐาพิเศษในหัวข้อ “How the Shield was Forged in Microsoft’s Way” หรือ “การสร้างเกราะคุ้มกันจากภัยร้ายในโลกไซเบอร์ ตามแนวทางของไมโครซอฟท์” เพื่อเน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ของไมโครซอฟท์ในการเสริมสร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัล ทั้งในเชิงเทคโนโลยี แนวคิด นโยบาย และความร่วมมือกับแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
“ไมโครซอฟท์เชื่อว่าเราทุกคนได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้วอย่างเต็มตัว โดยทุกภาคอุตสาหกรรมและทุกองค์กรธุรกิจควรต้องนำนวัตกรรมดิจิทัลมาปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานกันในทุกภาคส่วน” นางสาวแม็คเคย์ กล่าว “นั่นหมายความว่าองค์กรทุกแห่งต้องถือว่าตนเองเป็นบริษัทไอทีด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งจะทำให้การรักษาความปลอดภัยในโลกดิจิทัลกลายเป็นภารกิจที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมแรงร่วมใจกันผลักดัน ซึ่งสำหรับไมโครซอฟท์เอง เรามีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล โดยการสร้างสรรค์แพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่มอบความอุ่นใจให้กับผู้ใช้ และต่อสู้กับอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ ทั้งในเชิงปฏิบัติการและนโยบาย”