เนื้อหาวันที่ : 2016-05-24 11:43:19 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1757 views

สกว. จับมือเอสเอ็มอีแบงก์สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเอสเอ็มอี

เอสเอ็มอีแบงก์ แถลงผลการดำเนินงานเดือนเมษายน 2559 และลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการ Modern SMEs: Design & Story เพื่อสานต่อแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรีด้านการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ ร่วมกับ สกว., มหาวิทยาลัยศิลปากร และ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่ปงระเทศไทย (ธพว.) เป็นประธานแถลงข่าวผลการดำเนินงานเดือนเมษายน 2559 และโครงการ Modern SMEs: Design & Story เพื่อสานต่อแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรีด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ โดยพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการ โดยมีนางสาวเรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และผู้บริหารระดับสูงจากสำนักนายกรัฐมนตรีร่วมงาน ณ สำนักงาน ธพว.

ทั้งนี้ ธพว. สามารถลดเอ็นพีแอล ณ สิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาลงมาอยู่ที่ระดับ 20,953 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 รวม 2,642 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากระบบ Loan Monitoring เพื่อป้องกันสินเชื่อตกชั้นที่ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้และขายหนี้บางส่วน โดยปัจจุบัน ธพว. มีกำไรสุทธิรวม 718 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้รวม 12,153 ล้านบาท จำนวน 4,125 ราย เฉลี่ยกู้ต่อราย 2.95 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับร้อยละ 15.37

ในโอกาสนี้ ธพว. ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ Modern SMEs: Design & Story เพื่อสานต่อนโยบายของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและโอท็อปให้พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้วยการออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ รวมถึงนำเรื่องราวภูมิหลังมาเป็นจุดขาย เพื่อให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่ง ธพว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อผลักดันให้เกิดสินค้าที่ทันสมัยและมีดีไซน์ถูกใจตลาด

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. เปิดเผยว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว สถาบันการศึกษาจะร่วมจัดทีมนักศึกษาด้านการออกแบบ จับคู่กับผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่ เพื่อมาช่วยงานด้านออกแบบและบรรจุภัณฑ์ โดยจะแบ่งพื้นที่ในการเข้าไปดูแลกลุ่มเป้าหมายนำร่อง 4 ภาค รวมถึงพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 100 ราย ซึ่งมอบหมายให้มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นแกนหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีดูแลพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ขณะที่อีกสองภาคจะขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ต่อไป

ด้าน ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยมุ่งเป้า และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. ระบุว่า สกว.จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือด้านการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาแก่ผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย และมีความประสงค์ที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุน ส่งให้ ธพว. พิจารณาสนับสนุนแหล่งเงินทุนตามหลักเกณฑ์ที่ ธพว. กำหนด โดยเบื้องต้น สกว. จะคัดกรองผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพที่ได้รับการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น ด้านผลิตภัณฑ์ การจัดการ การตลาด เทคโนโลยี นวัตกรรมแล้ว ช่องทางการจัดจำหน่าย การออกแบบ การพัฒนาด้านบรรจุภัรฑ์ และอื่น ๆ ตามความเหมาะสมและตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ขณะที่ สสว. มีความประสงค์ต้องการลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอีปกติเพื่อมาสอดรับกับโครงการของ สสว. ที่ดำเนินการอยู่ โดยจะมีโปรแกรมอบรมให้ผู้ประกอบการพัฒนาศักยภาพรายละ 25,000 บาท ไปต่อยอดธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น

“สกว.ได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรมเพื่อไปยกระดับผลิตภัณฑ์ให้สามารถแข่งขันได้ โดยจัดสรรเงินทุนวิจัยประมาณปีละ 10 ล้านบาท ให้กับนักวิจัยในมหาวิทยาลัย นำกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการศึกษาตลาดเบื้องต้นเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ แก้ปัญหาหรือปรับปรุงกระบวนการผลิตตามความต้องการของผู้ประกอบการ โดยเน้นการทำงานในลักษณะ “วิจัยได้...ขายจริง” สกว.ในฐานะหน่วยงานพันธมิตรของ ธพว. จะทำหน้าที่คัดกรองผู้ประกอบการที่ผ่านการสนับสนุนการวิจัยจาก สกว.และมีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ส่งให้ธนาคารเพื่อพิจารณาสนับสนุนแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่ ธพว.จะคัดกรองผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไทยที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่งให้ สกว. พิจารณาสนับสนุนทุนวิจัย รวมทั้งจัดหานักวิจัยที่เหมาะสมเพื่อดำเนินการทำวิจัยให้ได้ผลงานตามความต้องการของผู้ประกอบการต่อไป” รองผู้อำนวยการ สกว. กล่าว

ผศ.ดร.อริศร์ เทียนประเสริฐ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้เลือกจังหวัดเพชรบุรีเป็นต้นแบบของการพัฒนาในโครงการดังกล่าว เพราะมีลักษณะเด่นเหมือนกรุงศรีอยุธยาที่มีชีวิต จากร่องรอยศิลปวัฒนธรรมตั้งแต่ในสมัยนั้นจนกลายมาเป็นศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน สะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และเชื่อว่าองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยจะสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถแข่งขันได้ในมิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ขณะที่ ผศ.ดร.อินทิรา ซาฮีร์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เผยว่า ได้ร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่หาจุดเด่นของจังหวัดอุบลราชธานีซี่งเป็นแหล่งร่ำรวยทางวัฒนธรรมอีสานตอนล่าง ผสานกับประเทศเพื่อนบ้าน จนพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกใจผู้บริโภค เช่น นำลายจักสานพื้นบ้านมาใส่ไว้ในวัสดุต่าง ๆ หรือเสื้อผ้า รวมถึงผ้าฝ้ายย้อมครามที่ออกแบบให้ทันสมัย อันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ามากขึ้น

รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า นับเป็นมิติใหม่ในการออกแบบและนำเรื่องราวภูมิหลังมาเป็นจุดขยาย ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับโอกาสจัดแสดงผลงานในตลาดคลองผดุงกรุงเกามในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพจัดงาน ในพื้นที่ครีเอทีฟโซนของ สกว. และ ธพว. ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะนำผลิตภัณฑ์จากสถานทูตต่าง ๆ มาร่วมแสดงด้วย อีกทั้งมีช่องทางส่งเสริมการตลาดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของทำเนียบรัฐบาลเผยแพร่ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงจะมีรางวัลเกียรติยศมอบให้กับนักศึกษาผู้ออกแบบและผู้ประกอบการต่อไป ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์และผลงานร่วมกันของทุกหน่วยงาน เพื่อการต่อยอดพัฒนาเอสเอ็สอีสู่ความสำเร็จที่มั่นคงและยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นที่น่าภาคภูมิใจที่เอสเอ็มอีไทยจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนและก้าวต่อไปสู่ตลาดสากล