ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้แถลงข่าว “ผลการดำเนินงานเดือนเมษายน 2559 โดย นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ และ นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. (SME Development Bank) และโครงการ Modern SMEs : Design & Story ซึ่งเป็นการสานต่อแนวนโยบายนายกรัฐมนตรี ด้านการพัฒนาการออกแบบดีไซน์ผลิตภัณฑ์และแพกเกจจิ้งให้กับผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP ให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยได้รับเกียรติจาก นางสาวเรณู ตังคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และผู้บริหารระดับสูงจากสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงาน ดังนี้
1. สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้นเดือนเมษายน 2559 ธนาคารสามารถลด NPLs ลงมาอยู่ที่ระดับ 20,953 ล้านบาท ( คิดเป็น 23.55% ของสินเชื่อรวม ) ซึ่งเป็นการลดลงของ NPLs ต่อเนื่องเป็นลำดับตั้งแต่มกราคม 2559 ที่อยู่ที่ระดับ 23,595 ล้านบาท (คิดเป็น 26.16% ของสินเชื่อรวม ) หรือลดลง 2,642 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมาจากระบบ Loan Monitoring เพื่อป้องกันสินเชื่อตกชั้น ได้ดำเนินไปอย่างเป็นประสิทธิภาพ และธนาคารได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ และขายหนี้บางส่วนออกไป
2. ผลการดำเนินงานของธนาคาร เดือนเมษายน 2559 มีกำไรสุทธิ 181 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2559 ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2559 ธนาคารมีกำไรสุทธิรวม 718 ล้านบาท สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้รวม 12,153 ล้านบาท จำนวน 4,125 ราย เฉลี่ยกู้ต่อราย 2.95 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เท่ากับ 15.37 %
3. โครงการ Modern SMEs : Design & Story ธนาคารได้สานต่อดำรินายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และ OTOP พัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ด้วยการออกแบบสินค้า แพ็คเกจจิ้ง เพิ่มเติมงานทางด้านดีไซน์และนำเรื่องราวภูมิหลังมาเป็นจุดขาย ช่วยทำให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้น ทั้งนี้ ธพว.ได้บูรณาการความร่วมมือในโครงการดังกล่าวกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผลักดันให้เกิดสินค้าที่ทันสมัย มีดีไซน์ที่ถูกใจตลาด
ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ทางสถาบันการศึกษาจะร่วมจัดทีมนักศึกษาด้านการออกแบบ จับคู่กับผู้ประกอบการในแต่ละพื้นที่เพื่อมาช่วยงานด้านออกแบบและบรรจุภัณฑ์ โดยจะแบ่งพื้นที่ในการเข้าไปดูแลกลุ่มเป้าหมายนำร่อง 4 ภาครวมถึงพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 100 ราย และมอบหมายให้มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นแกนหลักในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีดูแลพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ส่วนพื้นที่อีก 2 ภาค จะขยายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ในลำดับถัดไป
สำหรับ สกว. ที่ธนาคารได้ลงนามความร่วมมือในวันนี้ จะมีบทบาทในการช่วยเหลือด้านการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาให้กับผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย โดยผู้ประกอบการที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาออกแบบแล้ว จะสนับสนุนเข้าสู่แหล่งเงินทุนของ ธพว. ต่อไป ส่วน สสว. ที่เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ ธพว. ลงนามความร่วมมือมีความประสงค์ต้องการลูกค้ากลุ่ม Regular SMEs เพื่อมาสอดรับกับโครงการของ สสว. ที่ดำเนินการอยู่ โดยจะมีโปรแกรมอบรมให้ผู้ประกอบการพัฒนาศักยภาพรายละ 25,000 บาท นำไปต่อยอดธุรกิจเติบโตยิ่งขึ้น
ผู้เข้าร่วมโครงการ Modern SMEs : Design & Story จะได้รับโอกาสจัดแสดงโชว์ผลงานในตลาดคลองผดุงกรุงเกษม ช่วงเดือนกันยายน ที่กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพจัดงาน ในพื้นที่ Creative Zone ของ สสว. และ ธพว. และมีช่องทางส่งเสริมการตลาดผ่านระบบอีเล็กทรอนิกส์ (E-market) ของทำเนียบรัฐบาล เผยแพร่ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงจะมีรางวัลเกียรติยศมอบให้กับนักศึกษาผู้ออกแบบและผู้ประกอบการต่อไป ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการสร้างภาพลักษณ์และผลงานร่วมกันของทุกหน่วยงานเพื่อการต่อยอดพัฒนา SMEs สู่ความสำเร็จที่มั่นคงและยั่งยืน เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
รูปและที่มาข่าว : กระทรวงการคลัง