ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดงานแถลงข่าวแนะนำ ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทคคนใหม่ ชูนโยบาย “ผนึกกำลังเครือข่ายพันธมิตรวิจัย ต่อยอดงานวิจัย ก้าวต่อไปอย่างบูรณาการ”
ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง เข้าทำงานที่ไบโอเทค ในปี 2535 หลังจากจบปริญญาเอกด้าน Plant and Soil Science ที่ Montana State University ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มงานวิจัยแรกเกี่ยวกับการศึกษายีนความหอมระดับโมเลกุลของข้าวหอมมะลิ ซึ่งต่อมาในปี 2543 ไบโอเทคได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี ขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ดร.สมวงษ์ ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการฯ ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่จะนำเทคโนโลยีดีเอ็นเอไปช่วยเหลือภาคการเกษตรในการให้บริการการตรวจสอบความถูกต้องทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตขึ้น รวมทั้งความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ เพื่อเปิดบริการให้ภาครัฐและเอกชน ก่อนที่จะมีการโอนย้ายห้องปฏิบัติการฯ ไปเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในปี 2552 เพื่อประโยชน์โดยรวมต่อประเทศทางด้านพัฒนาวิชาการ การศึกษา และการบริการภาคเอกชน ซึ่งระหว่างนั้นในปี 2551 ไบโอเทค ได้จัดตั้งหน่วยวิจัยเทคโนโลยีจีโนม (ชื่อเดิม สถาบันจีโนม) ขึ้น ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และ ดร.สมวงษ์ เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหน่วยวิจัยเทคโนโลยีจีโนม โดยเป็นผู้ริเริ่มกลุ่มวิจัยที่เน้นเรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น Next Generation Sequencing ที่ทำงานได้รวดเร็วและทำการวิจัยในโครงการที่สำคัญของประเทศ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น
ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการไบโอเทคคนล่าสุด กล่าวว่า “ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเลือกให้มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการไบโอเทคในวาระนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ผมได้ทำงานที่ไบโอเทคมาทั้งในฐานะนักวิจัยและในระดับผู้บริหาร ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในทั้งสองฝ่าย และจะนำประสบการณ์เหล่านี้มาบริหารไบโอเทค อีกทั้งนักวิจัยไบโอเทคก็มีความสามารถและมีศักยภาพกันอยู่แล้ว ซึ่งระบบที่ผู้อำนวยการท่านก่อนๆ ได้วางไว้ เป็นการทำให้นักวิจัยสามารถขับเคลื่อนไบโอเทคไปได้ด้วยตัวเอง ในฐานะผู้อำนวยการผมจะส่งเสริมศักยภาพให้เพิ่มพูนขึ้นโดยการนำนักวิจัยมาทำงานบูรณาการร่วมกัน”
สำหรับแนวทางและนโยบายในการบริหารงานไบโอเทค ภายใต้การวิสัยทัศน์ของ ดร.สมวงษ์ นั้น ยังคงเดินตามวิสัยทัศน์ของ สวทช. คือการเป็นพันธมิตรร่วมทางที่ดี สู่สังคมฐานความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะมุ่งเน้นงานวิจัยที่สามารถต่อยอดมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศได้ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล โดยอยากให้ไบโอเทคเป็นหน่วยงานที่ช่วยประเทศไทยขับเคลื่อน “เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy)” โดยการนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพเข้าไปสร้างและส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้น อาทิ งานวิจัยด้านไวรัสวิทยา ซึ่งเป็นงานวิจัยที่สำคัญที่จะสร้างผลกระทบทั้งทางด้านสาธารณสุข และการเกษตร เพราะเชื้อไวรัสทั้งชนิดที่ก่อโรคในมนุษย์ สัตว์ และพืช และองค์ความรู้ด้านไวรัสจะนำไปสู่การพัฒนาเป็นชุดตรวจโรค และวัคซีน ซึ่งมีผลกระทบมหาศาล ด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งไบโอเทคมีคลังชีววัสดุที่มีการรวบรวมชีววัสดุไว้หลากหลายและมีระบบการจัดการที่ดี เพื่อรองรับการศึกษาและการนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพ การใช้เป็นชีวินทรีย์ควบคุมแมลงศัตรูพืชแทนการใช้สารเคมี ตลอดจนการผลิตเอนไซม์ที่มีประโยชน์ และสารมูลค่าสูงในภาคอุตสาหกรรม การวิจัยและพัฒนาด้านอาหาร เพื่อสร้างนวัตกรรมให้อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นการสอดรับกับโครงการ Food Innopolis ซึ่งเป็นหนึ่งใน super cluster ของรัฐบาล การใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่ามากที่สุด (Zero Waste) และนอกจากนี้ก็ยังที่จะไม่ลืมในการใส่ใจชุมชน โดยการจับมือกับพันธมิตร หรือองค์กรที่มีการดำเนินการอยู่ ในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและอีกเรื่องที่ ดร.สมวงษ์ ให้ความสำคัญ คือ การส่งเสริมให้ไบโอเทคมีความร่วมมือกับนานาชาติอย่างยั่งยืนแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน นอกจากจะทำให้มีบทบาทในเวทีโลกแล้ว ยังได้เห็นองค์ความรู้ใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้จากประเทศที่มีความร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและดัดแปลงเทคโนโลยีระหว่างประเทศ และนำมาประยุกต์ใช้ให้กับประเทศไทยได้อีกด้วย
ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง เป็นตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์ที่นำเทคโนโลยีชั้นสูงมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างผลกระทบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่เป็นผู้บุกเบิกและจัดตั้งห้องปฏิบัติการการตรวจสอบจีเอ็มโอ การนำเทคโนโลยีจีโนมมาใช้ในการศึกษายีนความหอมในข้าวซึ่งได้จดสิทธิบัตรแล้วในหลายประเทศ และการใช้เทคโนโลยีจีโนมปรับปรุงพันธุ์พืชเศรษฐกิจหลายๆ ตัวของประเทศไทย เช่น ข้าว อ้อย ปาล์ม และยางพารา เป็นต้น และ ดร.สมวงษ์ ได้รับรางวัลต่างๆ มาแล้วมากมาย เช่น รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2556 ประเภททีม จาก มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลเกียรติยศ “ผลงานเด่น สวก.” 2557 จากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญในคณะทำงาน / คณะกรรมการของกรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สำคัญในการทำงานแบบบูรณาการในยุคปัจจุบัน
“ในฐานะที่ไบโอเทค สวทช. เป็นหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ การให้อิสระทางความคิดเป็นสิ่งสำคัญ (Think outside the box) เพราะสิ่งใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์ หรือ นวัตกรรมใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนมีอิสระทางความคิด ตั้งแต่ทำงานบริหารมาผมเชื่อว่าเด็กจบใหม่มีความรู้มากกว่าผม เก่งกว่าผม เพียงแต่ว่าเราช่วยแนะนำแนวทางให้เค้าคิดว่าความรู้ที่เค้ามีจะเอาไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศได้อย่างไรเท่านั้นเอง ดังนั้นที่ผ่านมาจึงไม่ปิดกั้นความคิดของทีมงาน แต่ขอให้สิ่งที่จะทำมีการค้นคว้า มีข้อมูลสนับสนุน” ดร. สมวงษ์ กล่าวทิ้งท้าย
ไบโอเทค ได้รับการจัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรี ภายใต้ระบบราชการในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน (ในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2526 ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี 2534 และมีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้กำหนดให้รวมไบโอเทคเป็นส่วนหนึ่งของ สวทช. ที่เป็นแกนหลักในการสนับสนุน และนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไบโอเทค สวทช. มีผู้อำนวยการมาแล้วทั้งหมด 5 ท่าน ได้แก่ ดร.มาลี สุวรรณอัตถ์ (2526-2527) ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ (2528-2534) รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน (2535--2543) ศ.ดร.มรกต ตันติเจริญ (2543--2551) ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร (2551-2559) โดย ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการไบโอเทคตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป
รูปและที่มาข่าว : ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี