เนื้อหาวันที่ : 2016-05-17 15:16:47 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1416 views

ผลการศึกษาชี้ มีบุคลากรเพียง “หนึ่งในสิบ” เท่านั้นที่ได้รับการเสริมศักยภาพอย่างเต็มที่ ผู้บริหารองค์กรธุรกิจจำเป็นต้อง “ปรับโครงสร้างบุคลากรในยุคดิจิตอล”

หากบริษัทละเลยที่จะทำการปฏิรูปบุคลากรในรูปแบบดิจิตอล ก็จะไม่สามารถสร้างขีดความสามารถที่จำเป็นเพื่อความสำเร็จในยุคของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางด้านดิจิตอล (Digital Disruption) นั่นคือข้อมูลที่ระบุไว้ในรายงานฉบับล่าสุดที่มีชื่อว่า การปฏิรูปบุคลากรในยุคของกระแสน้ำวนดิจิตอล (Workforce Transformation in the Digital Vortex) จากศูนย์การปฏิรูปธุรกิจดิจิตอล (Center for Digital Business Transformation หรือ DBT Center) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือของ IMD และซิสโก้  รายงานฉบับนี้อธิบายขั้นตอนที่องค์กรสามารถดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรให้กลายเป็นรูปแบบดิจิตอล เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความคล่องตัวสูง มีความคิดสร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมกับองค์กร ซึ่งทั้งหมดนี้คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ลูกค้า คู่ค้า และพนักงาน

ซิสโก้คาดการณ์ว่าภายในปี 2563 จะมีวัตถุราว 50,000 ล้านชิ้นถูกเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ต และสามารถสร้างสตรีมข้อมูลจำนวนมหาศาล  ในสภาพแวดล้อมดังกล่าว องค์กรต่างๆ จะต้องเปิดโอกาสให้บุคลากรได้รับการเสริมศักยภาพด้วยการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ เหล่านี้ รวมไปถึงข้อมูลเชิงลึกที่ได้รับจากการสื่อสารดังกล่าว และผลที่ตามมาก็คือ องค์กรจะสามารถไขว่คว้าโอกาสใหม่ๆ มากมายที่เกิดขึ้นในยุคดิจิตอล

รายงาน Digital Vortex ของ DBT Center ระบุว่า 4 ใน 10 ของบริษัทชั้นนำในปัจจุบันจะสูญเสียตำแหน่งในตลาด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีดิจิตอล (Digital Disruption) ใน 5 ปีข้างหน้า ความพยายามที่จะต่อสู้กับองค์กรที่ปรับเปลี่ยนสู่ดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ หลายๆ บริษัทมุ่งเน้นการปฏิรูปในส่วนของระบบไอทีและระบบงานธุรกิจเป็นหลัก  อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านี้มักจะละเลยสินทรัพย์ที่สำคัญที่สุด นั่นคือ “บุคลากร

DBT Center ศึกษาโมเดลธุรกิจของบริษัทใหม่ๆ กว่า 75 แห่งที่ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างบุคลากร และได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ก่อตั้งบริษัทและ/หรือซีอีโอของบริษัทเหล่านี้ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Value Propositions (คุณค่าที่นำเสนอให้แก่ลูกค้า หรือคุณค่าที่ลูกค้าต้องการ) รวมถึงความเชื่อเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิตอลในการปรับปรุงโครงสร้างบุคลากร  นอกจากนี้ยังได้ทำการสัมภาษณ์ผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายทรัพยากรบุคคลขององค์กรขนาดใหญ่ระดับโลก เพื่อศึกษาแนวทางขององค์กรเหล่านี้ในเรื่องของการปฏิรูประบบดิจิตอลที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร  นอกจากนั้น DBT Center ยังได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร 941 คนทั่วโลก เพื่อประเมินสถานะปัจจุบันของการปฏิรูประบบดิจิตอลและบุคลากร

จากผลการศึกษา พบว่าในส่วนที่เกี่ยวกับบุคลากร มีบริษัทไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ที่บรรลุระดับความเป็นเลิศในความสามารถที่สำคัญ 3 ด้านสำหรับความคล่องตัวของธุรกิจดิจิตอล ได้แก่ การตระหนักรู้อย่างรอบด้าน การตัดสินใจโดยอาศัยข้อมูลที่ครบถ้วน และการดำเนินการที่รวดเร็ว  ตามที่ระบุไว้ในรายงานผลการศึกษา นี่คือความสามารถพื้นฐาน 3 ข้อที่องค์กรต่างๆ จะต้องเสริมสร้างให้แก่บุคลากร เพื่อให้สามารถแข่งขันท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เราได้พูดคุยกับบริษัทต่างๆ ที่พยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของเทคโนโลยีในการดำเนินกลยุทธ์ทางด้านธุรกิจ” เควิน แบนดี้ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดิจิตอลของซิสโก้ กล่าว “คำถามสำคัญสำหรับบริษัทเหล่านี้ก็คือ ควรจะทำอย่างไรเพื่อที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถของพนักงานโดยอาศัยการปรับเปลี่ยนสู่ระบบดิจิตอล และช่วยให้พนักงานปรับปรุงการตัดสินใจ เร่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน”

อย่างไรก็ดี งานวิจัยของ DBT Center เตือนว่าลำพังเพียงแค่โซลูชั่นทางด้านเทคโนโลยีไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในการปฏิรูปบุคลากรได้  ความพยายามเหล่านี้จะต้องสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางด้านธุรกิจที่เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร ขณะที่บริษัทปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานเพื่อให้สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคดิจิตอล  ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิรูปบุคลากรยังต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของผู้บริหารอีกด้วย การปฏิรูปเป็นมากกว่าเรื่องของการปรับใช้โซลูชั่นดิจิตอล แบนดี้กล่าว “การปฏิรูประบบดิจิตอลนับเป็นการฉีกกฎเกณฑ์ของธุรกิจ และบุคลากรจำเป็นที่จะต้องได้รับเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับการทำงานอย่างรวดเร็วและคล่องตัว เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้

ผลการศึกษาชี้ว่า บริษัทต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนกระบวนการทางด้านบุคลากรไปสู่ระบบดิจิตอลจะกลายเป็นผู้ชนะท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในยุค Digital Vortex ซึ่งโมเดลธุรกิจ สินค้าและบริการ และห่วงโซ่มูลค่าจะถูกแปลงเป็นดิจิตอลในขอบเขตที่กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  บริษัทที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมจะก้าวเข้าสู่ศูนย์กลางของกระแสความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตอล และปรับเปลี่ยนโครงสร้างของตลาดและอุตสาหกรรมให้ต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

 

อ่านรายงานฉบับเต็มที่นี่ http://c-cf.link/WorkforceTransformation