เนื้อหาวันที่ : 2016-05-17 10:42:10 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2341 views

วสท. จัดสัมมนาเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนกำลังสูง...ทางเลือกใหม่ของการก่อสร้าง

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการและคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา ร่วมกับ บจก. เหล็กสยามยามาโตะ โดย คุณไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้จัดการ ร่วมเป็นประธานเปิดงานสัมมนา เรื่อง เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนกำลังสูง...ทางเลือกใหม่ของการก่อสร้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณลักษณะของเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เกรด SM 520 ตามมาตรฐานใหม่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม การออกแบบโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่มีคุณภาพสูงตามมาตรฐานและหลักวิชาการ และประโยชน์ในการช่วยลดต้นทุนด้านต่างๆ ในงานมีวิศวกรทั้งผู้ออกแบบและผู้รับเหมา ตลอดจนเจ้าของโครงการและบุคคลากรด้านต่างๆเข้าร่วมงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญในการใช้ผลิตภัณฑ์เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนอย่างมีประสิทธิภาพ ณ โรงแรมพูลแมน แกรนด์สุขุมวิท (อโศก) นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับวิศวกรและงานรับเหมาก่อสร้างในปัจจุบันและอนาคต

ในงานสัมมนาครั้งนี้ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ได้นำเสนอข้อมูลภาพรวมของการใช้โครงสร้างเหล็กในงานก่อสร้างในประเทศไทย รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ให้สาระความรู้เกี่ยวกับหลักการออกแบบโครงสร้างเหล็ก SM520 ส่วน คุณธาร บุรณศิริ ได้บรรยายถึง การนำเหล็ก SM520 มาใช้ในการออกแบบโครงการหอศิลป์ศูนย์วัฒนธรรม และ โครงการ D’Luck Theatre จากนั้นได้เปิดเวทีเสวนา หัวข้อ การใช้งานโครงสร้างเหล็ก SM520 ดำเนินรายการโดย ศ.ดร.ปิติ  สุคนธสุขกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ที่ผ่านมาในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างมีการใช้เหล็กรูปพรรณหลายประเภท รวมทั้ง เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน (Hot Rolled Structural Steel) ได้เข้ามามีบทบาทในการนำมาเป็นวัสดุสำหรับการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาวงการก่อสร้างของประเทศไทยให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว  ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ เหล็กปีกกว้าง(Wide Flange) และเหล็ก I-Beam เป็นต้น เหล็กประเภทนี้มีคุณสมบัติสามารถรับแรงดัด (Bending) การตัดบิด (Twisting) แรงอัด (Compression) และแรงดึง (Tension) ได้ดี จึงมักนิยมใช้เป็นเสา (Columns) คาน (Beams) และตงพื้น (Foist) ในงานก่อสร้างและงานสถาปัตยกรรมต่าง ๆ 

เมื่อมีความต้องการใช้เหล็กรูปพรรณในอุตสาหกรรมการก่อสร้างมากขึ้น ผู้ประกอบการยังได้พัฒนาการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณที่มีคุณภาพสูง เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น หนึ่งในนั้นคือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนกำลังสูง (High Strength Structural Steel) เกรด SM520 ตามมาตรฐานใหม่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งมีคุณสมบัติการรับแรงดึงที่สูงขึ้น (High Yield Strength) ทำให้การออกแบบโครงสร้างเหล็กสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธภาพมากขึ้น ได้กำลังขององค์อาคารมากขึ้นเมื่อเทียบกับราคาของวัสดุ ทำให้ในภาพรวมสามารถประหยัดต้นทุนก่อสร้างได้มากขึ้น แต่การที่เหล็กมีกำลังสูงขึ้น ทำให้หน้าตัดขององค์อาคารเล็กลง ในทางวิศวกรรมจึงมีความจำเป็นต้องให้ความใส่ใจในเรื่องการวิบัติเฉพาะที่ (Local Buckling) โดยจะต้องมีการวิเคราะห์และคำนวณที่ละเอียดมากขึ้น นอกจากนี้ทาง วสท. ยังมีแผนที่จะพัฒนามาตรฐานการออกแบบโครงสร้างเหล็กให้ทันสมัยและครอบคลุมเรื่องการวิบัติเฉพาะที่ซึ่งอาจเกิดขึ้น เพื่อทำให้การก่อสร้างโดยเหล็กรูปพรรณกำลังสูงในประเทสไทยมีประสิทธิภาพสูงสุด                                 

เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และพัฒนาบุคคลากรในงานออกแบบวิศวกรรมและงานก่อสร้างของไทย ทาง วสท. ด้วยการสนับสนุนจาก เหล็กสยามยามาโตะ (SYS) กำหนดแผนงานจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้ในเรื่องเหล็กโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนกำลังสูง มาตรฐานใหม่ เกรด SM520 แก่สมาชิก วสท.ในต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่โดยไม่มีค่าใช่จ่ายในการอบรม รวม 3 ครั้ง โดยจะเริ่มจัดแห่งแรกในวันพุธที่ 6 กรกฎาคม 2559 ที่จังหวัดเชียงใหม่

          

บุคคลในภาพยืน (จากซ้ายไปขวา)

1.คุณธาร บุรณศิริ           รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์คิเทคเชอแรล เอ็นจิเนียริ่ง 49 จำกัด

2.รศ.เอนก ศิริพานิชกร     ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วสท.

3.รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ      เลขาธิการและคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมโยธา วสท.

4.คุณไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์  กรรมการผู้จัดการ บจก. เหล็กสยามยามาโตะ

5.ศ.ดร.ปิติ สุคนธสุขกุล    ที่ปรึกษาคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธรไทย-เยอรมัน มจพ.

6.คุณพงษ์ศักดิ์ แห่ล้อม      ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บจก. เหล็กสยามยามาโตะ

7.รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.