พัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค โดยกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปช่วยเหลือจากในการเข้าไปพัฒนาแผนการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบำรุงรักษาเครื่องจักรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ
อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร เป็นอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญในภูมิภาคทั้งในแง่ของการลงทุน เพื่อใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพื่อก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชน และเศรษฐกิจส่วนรวมของจังหวัด ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัด กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ริเริ่มให้มีโครงการพัฒนาขัดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค 1 จังหวัด 1 อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรขึ้น |
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า "ปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs ภาคการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรในต่างจังหวัดยังขาดการพัฒนาเทคโนโลยีการบริหารจัดการและการพัฒนาด้านประสิทธิภาพการผลิตพบความสูญเสียและยังใช้ทรัพยากรต่างๆ ไม่คุ้มค่า ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง เสียเปรียบคู่ค้า กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ดำเนิน โครงการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค โดยผู้ประกอบการนำร่องจะได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงอุตสาหกรรมในการเข้าไปพัฒนาแผนการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบำรุงรักษาเครื่องจักรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ" |
กระทรวงอุตสาหกรรมได้คัดเลือกผู้ประกอบการแปรรูปเกษตรนำร่องจากทั่วประเทศเข้าโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่วนภูมิภาค โดยจัดทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยงชาญเข้าไปให้คำแนะนำค้นหาจุดบกพร่องเพื่อการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดต้นทุนความสูญเสียเพิ่มผลิตภาพให้ SMEs เกษตรแปรรูป 150 รายใน 75 จังหวัดสู่ผลิตภัณฑ์เด่นประจำจังหวัดหรือ โปรดักแชมเปี้ยน และ พัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป สร้างเครือข่ายความร่วมมือถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์สู่การพึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือเกษตรกรจากการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบทางการเกษตร รักษาเศรษฐกิจ การจ้างงานและการลงทุนในจังหวัดให้ดำรงอยู่ |
นางฉวีวรรณ แซ่คู หนึ่งในผู้ประกอบการนำร่องแปรรูปไม้ยางพารา บ.สุราษฎร์ควอลิตี้วู้ด จำกัด กล่าวว่า "ขณะนี้ปัญหาที่ทำให้โรงงานขาดความสามารถในการแข่งขัน คือ วัตถุดิบไม้ยางพาราขาดตลาด และมีการแข่งขันชิงวัตถุดิบ นอกจากนี้ยังประสบภาวะขาดทุนเนื่องจากไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาได้ ซึ่งจุดนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งทีมที่ปรึกษาเข้าไปแก้ปัญหาด้านโลจิสติกส์ การบริหารจัดการวัตถุดิบปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตซึ่งจะทำให้โรงงานสามารถหลุดพ้นจากปัญหาดังกล่าวและพร้อมที่จะทำการตลาดด้วยการพึ่งพาตนเองได้" |
นางอำไพพรรณ กันทาแก้ว ผู้ประกอบการนำร่องโรงอบลำไย อำไพพรรณ การเกษตร จ. เชียงใหม่ กล่าวว่า "แม้เพีงระยะเวลาหนึ่งเดือนที่เข้าโครงการก็เห็นผลว่าเราสามารถลดต้นทุนได้จริงเป็นเลข 6 หลัก สามารถแปลงตัวเลขการสูญเสียที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนให้เป็นกำไร ทำให้บริษัทมีความสามารถที่จะเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนได้อีกด้วย" |