เนื้อหาวันที่ : 2016-05-06 09:09:26 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1769 views

“คัพโค้ด” สตาร์ตอัพของเด็ก IT สู่การเป็นเจ้าของบริษัท Software House

แปดศิษย์เอกคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มจธ.ไล่ตามฝัน ทิ้งเงินเดือนประจำบริษัทใหญ่ มารวมกลุ่มเพื่อนตั้งบริษัทซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ผลิตเว็บไซต์ โมบาย แอพพลิเคชั่น และระบบซอฟต์แวร์ บริหารจัดการกำไร 5 เปอร์เซ็นต์ คืนให้มหาวิทยาลัยเพื่อสนับสนุนการสร้างสตาร์ตอัพ Spinoff รุ่นหลังต่อไป

            CupCode คือ บริษัท software ที่เกิดจากการรวมตัวของศิษย์เก่าด้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่อยากใช้ความรู้เชิงเทคนิคด้าน Software มาพัฒนา Solution ที่ตอบโจทย์การใช้งานจริงในสังคม โดยการเดินทางของ CupCode เริ่มจากการที่ผู้ก่อตั้งแต่ละคนได้ทดลองไปทำงานในบริษัทแล้วพบว่าการทำงานภายใต้บริษัทมีข้อจำกัดในรูปแบบการทำงาน เลยกลับมารวมกันรับงานเป็นทีมและก่อตั้งเป็นบริษัทขึ้นมารับงานเต็มรูปแบบในที่สุด โดยในช่วงแรก CupCode วาง Positioning เป็นเหมือนบริษัท Outsource ของเอเจนซี่ที่มารับช่วงต่องานทางด้าน Software แต่ปัจจุบันบริษัทปรับการทำงานมารับงานเองโดยตรงมากขึ้น และเน้นการสร้างฐาน cash flow ให้เพียงพอในการสร้างความมั่นคงทางธุรกิจ

            “ช่วงแรกที่เราจับกลุ่มเพื่อน จุดประสงค์คือเพราะเราเบื่องานบริษัท ไม่ใช่ตัวงานแต่เป็นสิ่งแวดล้อมข้างใน ที่ต้องอยู่ให้เป็นจึงไม่เหมาะกับเราเท่าไหร่ จึงออกมาจับกลุ่มกัน โดยที่ว่าคัพโค้ด มีโจทย์ในการทำงานคือทำอย่างไรให้เราทุกคนเท่าเทียมกัน ทำอย่างไรให้เราทำงานได้โดยไม่ต้องสนใจเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องงานมากนัก ทำอย่างไรให้บริษัทเป็นบริษัทที่ทุกคนรู้สึกว่าเหมือนมาทำงานกับกลุ่มเพื่อน หรือครอบครัว โจทย์ในปีแรกของเรามีแค่นี้เอง ผมเริ่มออกตามหาเพื่อนๆ ก่อนโดยดูจากความพร้อมให้เกิดความเป็นทีมเวิร์คมากที่สุด” กัลยรัตน์ กาญจนบัตร หรือ ณัฐ หนึ่งในทีมผู้ก่อตั้งเล่าถึงที่มา

ปัจจุบัน CupCode รับงานผลิตเว็บไซต์  โมบาย แอพพลิเคชั่น รวมถึงการออกแบบระบบ software การบริหารจัดการข้อมูลที่เชื่อมโยงหน้าเว็บไซต์ จุดแข็งของบริษัท คือ การใช้ประโยชน์จากความรู้เชิงเทคนิคมาพัฒนาระบบและเครื่องมือใหม่ ๆ ที่เข้ามาตอบโจทย์ที่เป็นช่องว่างทางการตลาด ควบคู่ไปกับการบริการลูกค้า ที่ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่มีการกลับมาใช้บริการซ้ำ ปัจจุบันลูกค้าหลักของ CupCode คือ กลุ่มธุรกิจ E-commerce

             กัลยรัตน์ เล่าว่า ก่อนจะเติบโตและเรียนรู้พวกเขาผ่านเส้นทางที่ยากลำบากมาแล้วนับไม่ถ้วน

            “ตอนที่เราเรียนจบและจับกลุ่มกันใหม่ๆ เราตั้งเป้าหมายว่าเราอยากจะผลิตและขายผลิตภัณฑ์ของเราเอง แต่ด้วยความที่เราไม่มีเงินทุนและไม่มีกำลังคนมากพอ ประกอบกับพวกเรายังมีงานประจำกันอยู่เป็นส่วนใหญ่ ทำให้เราต้องทำงานสองขาคือการรับงานมาทำตามใจลูกค้า และขาของการพยายามจะปั้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเราเอง ในช่วงนั้นเอง มจธ.มีโครงการให้ศิษย์เก่าที่จบไปแล้วเขียนโครงการนำเสนอเพื่อเป็นสตาร์ตอัพ ภายใต้โครงการ Student Entrepreneurship Program ซึ่งได้มีการเปิดตัวภายใต้ชื่อศูนย์ Hatch ในปัจจุบัน เราได้เข้ารอบและได้รับการพัฒนาจนในที่สุดเราก็ได้ทำผลิตภัณฑ์ของตัวเองออกมาพัฒนา solution จากโจทย์ที่ทีมสนใจพัฒนา Application ขึ้นมาชื่อ “Traffle” โดยได้ Seed Funding ให้จำนวนเงิน 2 แสนบาท และได้มีโอกาสนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่อลูกค้า โดยที่มหาวิทยาลัยโดยรศ.ดร.ธีรณี อจลากุล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นผู้ช่วยในการจับคู่ธุรกิจให้”

            ในช่วงนี้เองที่พวกเขาได้เรียนรู้การทำธุรกิจมากขึ้น จากที่คิดแค่อยากจะแก้ปัญหาที่พวกเขาคิดว่ามันเป็นปัญหาการได้มีโอกาสนำเสนองานกับอาจารย์และลูกค้า จึงได้เห็นมุมมองใหม่ๆ  “ต้องยอมรับว่าตอนนั้นเราไม่ได้ทำการตลาดเลยว่าลูกค้า Application เราจะเป็นใคร กลุ่มใหญ่แค่ไหน เราถูกถามตลอดว่า Solution ตอบโจทย์ใครอะไรคือจุดเด่น ตอนนั้นเองเราก็เริ่มรู้แล้วว่าจุดอ่อนและปัญหาของทีมเราคืออะไร นั่นคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้อย่างมากในช่วงที่ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย ปัจจุบันเราก็ยังพยายามที่พัฒนา solution ของตัวเองให้ก้าวไปสู่สากลขึ้นเรื่อยๆ ส่วนงานซอฟต์แวร์เฮ้าส์ ก็เริ่มเติบโตและเป็นที่รู้จักในวงการมากขึ้น เราเอาประสบการณ์มุมมองด้านธุรกิจมาปรับใช้กับฝั่งงานที่เป็นซอฟต์แวร์เฮ้าส์  เราทำงานมากกว่าแค่ตอบโจทย์ลูกค้า แต่พวกเขาพยายามเข้าให้ถึงต้นตอของปัญหาของลูกค้า ค้นให้เจอแล้วตอบโจทย์ได้ตรงใจที่สุด เน้นการบริการ เป็นเหมือนเพื่อนคู่คิดให้กับลูกค้า ทำให้เราเริ่มได้รับการแนะนำต่อมากขึ้นเรื่อยๆ และวันนี้พวกเราทุกคน 11 ชีวิต ออกจากงานประจำกันหมดทุกคนและมาให้เวลากับบริษัทเล็กๆ ของเราอย่างเต็มที่”

            นภดล นภาลัย หรือ โน้ต หนึ่งในทีมก่อตั้งคัพโค้ด กล่าวว่า สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยล้วนเป็นสิ่งที่มีคุณค่า หรือการเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองก็เช่นกัน ปัจจุบัน บริษัท คัพโค้ด จำกัด จดทะเบียนร่วมทุนกับบริษัทนววิวรรธ ซึ่งเป็น บ.Holding Company ของ มจธ.กำไรส่วนหนึ่งของบริษัท จะแบ่งให้กับมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัพ และ Spinoff รุ่นหลังๆ ต่อไป

            ขณะที่ กัลยรัตน์ ให้แง่คิดว่า คนที่ทำซอฟต์แวร์เฮ้าส์แล้วไม่ประสบความสำเร็จมีค่อนข้างสูง และมีส่วนน้อยมากที่ทำแล้วสามารถเติบโตไปได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการเติบโตไปสร้างผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ในช่วงของการเริ่มต้น ในฐานะคนที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการธุรกิจมากนัก พวกตนมักจะได้รับคำปรึกษาแนะนำดีๆ จากอาจารย์เสมอในการรับงานแต่ละชิ้น ซึ่งล้วนเป็นข้อเท็จจริงและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทเล็กๆ ของพวกเขาฝ่าฟันมาได้ถึงจุดนี้  คัพโค้ดมีลูกค้าที่ชอบผลงานของเขาแล้วจ้างทำงานต่อเรื่อยๆ เริ่มมีงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หากถามว่าส่วนผสมอะไรที่ทำให้พวกเขายังอยู่ได้ พวกเขายืนยันว่าการมีที่ปรึกษาที่ดี การเรียนรู้ พัฒนาฝีมือ และการให้บริการลูกค้าด้วยใจ คือส่วนผสมที่พวกเขาให้ความสำคัญ