หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวเปิดโครงการเสวนาทางวิชาการ “การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 กับทิศทางตลาดแรงงาน” จัดโดย กรมการจัดหางานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ ในวันนี้ (28 เมษายน 2559) ว่า “สังคมไทยเปลี่ยนไปเป็น “Digital Economy” ทำให้รูปลักษณ์ของตลาดแรงงานเปลี่ยนไป ทุกคนต้องรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงและเกาะติดสถานการณ์ต่างๆ ซึ่ง พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตอบรับนโยบายรัฐบาลในการปฏิรูป โดยได้ปรับปรุงการทำงานของกรมการจัดหางานแบบ ก้าวกระโดด ส่งเสริมการมีงานทำในทุกรูปแบบ ทั้งในเรื่องกฎหมาย รูปแบบการทำงานเชิงรุกในการนำดิจิทัล เข้ามาช่วย เช่น การสมัครงานทางโทรศัพท์มือถือผ่านแอพพลิเคชั่น เป็นต้น ทำให้เห็นว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงไป ทุกอย่างสามารถจัดการได้ด้วยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว เพราะฉะนั้นรูปแบบการทำงานก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไป ต้องมีความหลากหลายและมีการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย คือ ต้องมีรูปแบบเป็นประชารัฐมากยิ่งขึ้น
ขณะนี้รัฐบาลได้ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อวางแผนการขับเคลื่อนประเทศไทย โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพราะฉะนั้นกรมการจัดหางาน จึงต้องมีแนวทางในการปรับกระบวนการส่งเสริมการมีงานทำ ใน 3 ระยะ คือ 1) ระยะสั้น เน้นทักษะการทำงานของกำลังแรงงาน โดยศึกษาข้อมูลอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้ทันสมัย 2) ระยะกลาง เตรียมความพร้อมกำลังแรงงานก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรม คือ คนไทยต้องพร้อมปรับตัว ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ สร้างแรงงานให้เป็น “Global Citizen” คือ สามารถอยู่ได้ทุกที่ในโลกเป็นประชากรของโลก ด้วยทุนด้านภาษาและทักษะด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งประเทศไทยควรจะมีการปรับเปลี่ยนด้วย และที่สำคัญในเรื่องความรับผิดชอบ ความคิดสร้างสรรค์ จะต้องมีอยู่ในแรงงานไทยทุกคน รวมไปถึงเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย 3) ระยะยาว ลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อพัฒนากำลังคนและการทำงานให้ทันกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนกำหนดทิศทางตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ”
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อภายหลังเปิดโครงการว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมกับทิศทางตลาดแรงงาน เป็นนโยบายของรัฐบาลและแนวโน้มอุตสาหกรรมของโลก จากเดิมที่ใช้แต่เครื่องจักรเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น คนที่จะเข้าไปทำงานต้องเป็นคนที่มีความรู้และสามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้ ผู้ผลิตจะปรับตัวจากการผลิตของแบบเดียวกันมากๆ ก็เปลี่ยนเป็นผลิตมากแต่หลากหลาย ต้องตอบโจทย์ตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นได้ และมีการจำหน่ายแบบ “Digital Economy” หรือ จำหน่ายทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้การเตรียมตลาดแรงงานต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับเรื่องนี้ด้วย คือแรงงานไทยต้องมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ และนำมาประยุกต์ใช้กับการวางแผนการทำงานได้
ซึ่งการบริการของกรมการจัดหางาน จะเปลี่ยนไปจากเว็บไซต์ปกติเป็นแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ สามารถเข้าถึง
ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทั้ง Smart Labour Application และ ล่าสุดกับ Smart Job Center สามารถเข้าสมัครงาน ได้ทันที นายจ้างสามารถเข้ามาดูทุกเวลาและกลุ่มคนที่เข้ามาสมัครงานก็จะมีความหลากหลายมากขึ้นด้วย”
การเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหาร ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐและเอกชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องได้ทราบถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน และตระหนักรู้ในการเปลี่ยนแปลงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านการวิเคราะห์สภาวะตลาดแรงงาน วิธีการจัดหางานให้บรรลุผล ส่งเสริมการมีงานทำอย่างยั่งยืน เตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกและความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และภาคเอกชนเข้าร่วมเสวนา ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนาการส่งเสริมการมีงานทำของประเทศไทย และขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงแรงงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ก้าวทันตามกระแสโลกต่อไป
-----------------------------------------
ปริยรณ พรหมสาขา ณ สกลนคร ภาพและข่าว