แผนกรถจักรยานยนต์และพาวเวอร์ สปอร์ตของบ๊อชยังเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก โดยนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแผนกนี้ในญี่ปุ่นเมื่อเดือนเมษายน ปี 2015 พบว่ายอดขายเทคโนโลยีสำหรับรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนการผลิตรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าร้อยละ 5 ในช่วงเวลาเดียวกัน ความสำเร็จนี้มาจากฐานผลิตภัณฑ์ที่กว้างขวาง ทั้งรถจักรยานยนต์และพาวเวอร์ สปอร์ต เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ โดยระบบเตือนมุมอับสายตา (side view assist) ของบ๊อชถือเป็นระบบช่วยขับขี่สำหรับจักรยานยนต์ระบบแรกของโลก นอกจากนี้ หน่วยธุรกิจใหม่ยังทำให้เกิดการผลิตเทคโนโลยีระบบฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพ โซลูชั่นอันชาญฉลาดในการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต (smart connectivity) รวมทั้งอุปกรณ์จอแสดงภาพที่ล้ำสมัย ทั้งนี้ ขุมกำลังพนักงานทั่วโลกปัจจุบันอยู่ที่ 130 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นสามเท่าภายในหนึ่งปี พนักงานเหล่านี้สามารถดึงเครือข่ายวิศวกรเข้ามาร่วมอีกนับพัน สนับสนุนการผลิตเพื่อรองรับธุรกิจโซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อน ส่งผลให้หน่วยธุรกิจนี้มีอนาคตที่สดใส
"ในปี 2010 เราหวังทำยอดขายเทคโนโลยีรถจักรยานยนต์ให้ได้ถึงระดับ 1 พันล้านยูโร" ดร. เดิร์ก โฮไฮเซล กรรมการบริหารของบ๊อชกล่าว ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าบ๊อชจะทำรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของเป้าได้จากในเอเชีย
มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ภายในปี 2021 ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ทั่วโลกแต่ละปีจะทะลุ 160 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าปัจจุบันถึงหนึ่งในสาม โดยร้อยละ 90 มาจากการผลิตในประเทศจีน อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นไปที่จักรยานติดเครื่อง (moped) เครื่องยนต์ขนาด 250 ซีซี ซึ่งเป็นรถประเภทที่นิยมใช้กันในเอเชีย "ในตลาดเกิดใหม่นั้น การสัญจรด้วยรถสองล้อเครื่องเป็นทางที่ประหยัดที่สุด" ดร. โฮไฮเซลกล่าว
ขณะเดียวกัน ยานพาหนะประเภทนี้ก็เผชิญกับความท้าทายด้านกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งในเอเชีย มีรถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เผาไหม้ภายในด้วยเทคโนโลยีคาร์บูเรเตอร์รุ่นเก่าอยู่ ตรงกันข้ามกับเทคโนโลยีของบ๊อช ซึ่งได้นำเสนอระบบหัวฉีดที่ควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดอัตราการใช้เชื้อเพลิงลงได้สูงสุดร้อยละ 16 บ๊อชจึงมีส่วนช่วยลดการปล่อยมลพิษในประเทศต่างๆ เช่น ในอินเดีย เป็นต้น
มุ่งมั่นพัฒนาประสิทธิภาพและความปลอดภัย เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ
ตลาดเกิดใหม่นั้น นอกจากต้องการประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ยังต้องการความปลอดภัยจากรถจักรยานยนต์มากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ประมาณ 21,000 คนในแต่ละปี ระบบเบรก ABS สามารถช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตได้ถึง 1 ใน 4 โดยระบบเบรกจะป้องกันล้อล็อก (anti-lock braking system: ABS) ช่วยให้ผู้ขี่สามารถควบคุมการทรงตัวของรถได้ในขณะเบรก ช่วยให้ตอบสนองต่อสถานการณ์คับขันได้อย่างรวดเร็วและไม่ต้องกังวลถึงความปลอดภัย ปัจจุบันมีหลายประเทศเพิ่มมากขึ้นทั่วโลกที่สนับสนุนให้ใช้ระบบเบรก ABS นี้ โดยทุกประเทศในสหภาพยุโรป กำหนดให้รถจักรยานยนต์ที่จะออกจำหน่ายภายในปี 2017 และมีเครื่องยนต์มากกว่า 125 ซีซี ต้องติดตั้งระบบเบรก ABS ส่วนรถจักรยานยนต์ที่มีเครื่องยนต์ตั้งแต่ 125 ซีซีในญี่ปุ่น จะต้องติดระบบเบรก ABS ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2018 เป็นต้นไป บราซิลและไต้หวันก็เพิ่งผ่านกฎหมายเกี่ยวกับระบบเบรก ABS ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ และเรื่องนี้ยังกลายเป็นประเด็นการเมืองในอินเดียและสหรัฐฯ อีกด้วย
ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับแต่ละตลาด: จากระบบ ABS ถึงระบบเตือนมุมอับสายตา
ตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา บ๊อชได้ผลิตระบบเบรก ABS สำหรับรถจักรยานยนต์มากกว่า 2 ล้านหน่วย สำหรับปีนี้ บ๊อชกำลังจะเปิดตัวระบบ ABS 10 ที่ได้รับการออกแบบให้รองรับความต้องการในตลาดเกิดใหม่เป็นพิเศษ ด้วยขนาดที่กะทัดรัดและน้ำหนักเพียง 450 กรัม ทำให้ผู้ผลิตสามารถนำระบบไปติดตั้งกับรถเครื่องที่เหมาะกับผู้บริโภคที่เน้นเรื่องราคา "ความปลอดภัยไม่ควรขึ้นอยู่กับราคา เราจึงพัฒนาเทคโนโลยีระบบเบรก ABS ที่รองรับได้ทุกช่วงราคาและตลาด" ดร. โฮไฮเซลกล่าว
รถจักรยานยนต์สมรรถนะสูงนั้น มีความต้องการมากที่สุดในตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกาเหนือ ปี 2013 บ๊อชจึงพัฒนาระบบ MSC (motorcycle stability control) ซึ่งเป็นระบบรักษาเสถียรภาพการทรงตัวของรถ (Electronic Stability Program: ESP) ประเภทหนึ่ง จากการติดตามข้อมูลตัวแปรต่างๆ เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ อาทิ การทำมุมเข้าโค้ง (lean angle) ทำให้ระบบปรับการเบรกได้โดยอัตโนมัติ และควบคุมความเร็วให้เหมาะกับสภาพการขับขี่ ช่วยป้องกันการล้มไถลไปกับพื้น (low side) ขณะเบรกตอนเข้าโค้ง ซึ่งบ๊อชยังไม่หยุดพัฒนาเพียงเท่านี้ ยังได้พัฒนาระบบเตือนมุมอับสายตา ซึ่งถือเป็นการเปิดตัวระบบช่วยเหลือการขับขี่สำหรับรถจักรยานยนต์ครั้งแรกของโลก เมื่อมีการเปลี่ยนเลน ระบบนี้จะใช้ตัวเซ็นเซอร์ความถี่สูงตรวจสอบว่ามีอันตรายแวดล้อมหรือในด้านใดด้านหนึ่งของรถที่ผู้ขับขี่มองเห็นยากหรือไม่
รถจักรยานยนต์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ยิ่งเสริมให้ปลอดภัยมากขึ้น
อนาคตของวงการรถจักรยานยนต์ไม่เพียงแต่มีประเด็นด้านความปลอดภัยและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีเรื่องการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย บ๊อชจึงได้พัฒนาโซลูชั่นเชื่อมต่อสำหรับรถจักรยานยนต์ขึ้นมา 2 ระบบ ระบบแรก เป็นคลัสเตอร์เพื่อการเชื่อมต่อรวม (Integrated Connectivity Cluster- ICC) ซึ่งเป็นระบบข้อมูลรวมของผู้ขับขี่ที่เชื่อมต่อรถจักรยานยนต์กับสมาร์ทโฟนเพื่อใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ ระบบที่สองคือ การใช้หน่วยควบคุม (Connectivity Control Unit- CCU) เพื่อเชื่อมต่อรถจักรยานยนต์กับระบบคลาวด์ ทำให้สามารถใช้งานฟังก์ชั่นต่างๆ เช่น eCall บริการโทรศัพท์ในภาวะฉุกเฉินอัตโนมัติ หากรถเกิดอุบัติเหตุจะสามารถโทรฉุกเฉินเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีความช่วยเหลือไปถึงเร็วขึ้น อย่างไรก็ดี ระบบ eCall นี้ ยังไม่บังคับใช้สำหรับรถจักรยานยนต์ในสหภาพยุโรป แต่เดือนเมษายน 2018 เป็นต้นไป รถยนต์และรถบรรทุกขนาดต่างๆ สูงสุด 3.5 เมตริกตันในสหภาพยุโรปจะต้องติดตั้งระบบนี้ตามกฎหมาย สำหรับระบบ CCU นี้ สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ขับขี่ด้วย เช่น จุดที่มีความเสี่ยงและเป็นอันตรายบนท้องถนน รวมทั้งสามารถติดตามตำแหน่งรถจักรยานยนต์ที่ถูกขโมยด้วย