เนื้อหาวันที่ : 2007-08-08 11:05:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2697 views

ก.พลังงานจัดสัมมนา การส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะชุมชน

กระทรวงพลังงาน ระดมสมอง ภาครัฐ นักวิชาการ ภาคเอกชน จัดสัมมนา การส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะชุมชน ยันเร่งการส่งเสริมเปลี่ยนขยะ เป็นพลังงานรอบด้าน ช่วยลดปัญหาโลกร้อน

กระทรวงพลังงาน ระดมสมอง ภาครัฐ  นักวิชาการ ภาคเอกชน  จัดสัมมนา การส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะชุมชน  ยันเร่งการส่งเสริมเปลี่ยนขยะ เป็นพลังงานรอบด้าน มั่นใจศักยภาพการผลิตพลังงานจากขยะในประเทศ ช่วยลดปัญหาโลกร้อน และเสนอขายคาร์บอนเครดิตผ่านโครงการ CDM ได้

.

ในวันนี้(6 สค.)  ดร.ปิยสวัสดิ์  อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  เป็นประธานเปิดการสัมมนา "การส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะชุมชน" โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมงานสัมมนา อาทิ นักลงทุน/ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า สภาอุตสาหกรรมและหอการค้าจังหวัด  แหล่งสนับสนุนด้านการเงิน และรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

.

ดร. ปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การกำจัดขยะเป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยการผลิตพลังงานทดแทนจากขยะ นับเป็นเป้าหมายหนึ่งของการกำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายที่ผลิตไฟฟ้าจากขยะ 100 เมกะวัตต์ ภายในปี 2554 จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งศึกษา จัดทำแนวทางการผลิตพลังงานจากขยะที่ชัดเจน โดยการจัดสัมมนาในวันนี้ ก็เพื่อผลักดันโครงการผลิตพลังงานให้สามารถดำเนินการอย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม ซึ่งจะได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นจากหลาย ๆ ฝ่าย เพื่อผลักดันโครงการผลิตพลังงานจากขยะชุมชน  และก่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง การยอมรับในวงกว้าง และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ได้ต่อไป

.

สำหรับแนวทางการส่งเสริม และสนับสนุนการผลิตพลังงานจากขยะ นั้น กระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) 2.50 บาทต่อหน่วย สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กไม่เกิน 90 เมกะวัตต์ (SPP)  และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากไม่เกิน 10 เมกะวัตต์(VSPP) เป็นระยะ 7 ปี  กรณีเป็นโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้ส่วนเพิ่มอีก 1 บาทต่อหน่วย  การยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักรผลิตพลังงานทดแทนจากขยะ และยกเว้นภาษีเงินได้ เป็นเวลา 8 ปี โดยทำการขอส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

.

นอกจากนี้  กระทรวงพลังงาน ยังสนับสนุนในด้านแหล่งเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารสำหรับผู้ประกอบการที่จะผลิตพลังงานทดแทน  โดยให้วงเงินกู้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อโครงการ  และมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 และจ่ายคืนเงินกู้ภายใน 7 ปี  รวมทั้งโครงการผลิตพลังงานจากขยะ  ยังสามารถยื่นข้อเสนอในการขายคาร์บอนเครดิต ในโครงการ CDM (Clean Development Mechanism) เนื่องจากเป็นโครงการฯ ที่ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานจากฟอสซิล

.

ด้านนายพานิช   พงศ์พิโรดม  อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า พพ. ได้ดำเนินโครงการที่ส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะ  ได้แก่  การศึกษาและสาธิตการผลิตพลังงานไฟฟ้า และความร้อนจากขยะชุมชน การพัฒนาและสาธิตถังหมักก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์สำเร็จรูปขนาดเล็ก การพัฒนาระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะในระดับชุมชน และการรณรงค์สร้างความเข้าใจเพื่อส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะ เป็นต้น  ซึ่งแต่ละโครงการฯ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการลงทุนจากภาคเอกชน การลงทุนร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยภาครัฐก็พร้อมจะให้การส่งเสริมในด้านสิทธิประโยชน์ และมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการลงทุนต่อไป