เนื้อหาวันที่ : 2016-04-12 11:21:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1554 views

สศอ. โชว์ผลงานรอบ 6 เดือน ลุย 5 โปรเจกต์ใหญ่ พร้อมเปิด 5 แผนงานเร่งด่วนในอนาคต

สศอ.โชว์ผลงานรอบ 6 เดือน ลุย 5 โปรเจกต์ใหญ่ ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่การแข่งขันในเวทีโลก พร้อมจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวางยุทธศาสตร์ชาติแห่งอนาคต และดันแผนพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์  ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงผลการดำเนินงาน ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในรอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2558-มีนาคม 2559) ที่ผ่านมา ประกอบด้วย

  1. ปรับปรุงดัชนีอุตสาหกรรมใหม่ (MPI) เพื่อให้สะท้อนภาคเศรษฐกิจได้อย่างถูกต้องและทันสมัย และเป็นเครื่องวัดภาวะเศรษฐกิจตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น MPI ชุดปรับปรุงใหม่นี้จึงเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพเพื่อใช้ติดตามหรือประเมินภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศได้ดียิ่งขึ้น และมีการพัฒนาช่องทางการเผยแพร่ผ่าน smart phone เพื่อสะดวกในการสืบค้นข้อมูลด้านอุตสาหกรรม โดยรายละเอียดดังกล่าวสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ www.oie.go.th ส่วนขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป คือ คัดเลือกตัวอย่างที่สะท้อนภาคการผลิตได้ดีขึ้น, จัดทำ ISIC Revision 3 เป็น 4 และปรับปรุง Annual revise เป็นต้น 
  1. เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต สศอ.ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ครม. เห็นชอบ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Engine Growth) ได้แก่ 1.ยานยนต์แห่งอนาคต 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร 6.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 7.อุตสาหกรรมการบิน และโลจิสติกส์ 8.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและ เคมีชีวภาพ 9.อุตสาหกรรมดิจิทัล 10.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เพื่อพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน ช่วยให้อุตสาหกรรมไทยทั้งระบบเติบโต อย่างมีแบบแผนโดยมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศไทยเป็น Digital Economy และ Bio Economy ในอนาคต 
  1. นโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ สศอ. ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบคลัสเตอร์ และเลขานุการคณะอนุกรรมการอีก 10 คณะ ซึ่งผลการดำเนินการของคณะกรรมการและอนุกรรมการได้มีการกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายและประเทศเป้าหมายเพื่อชักจูง รวมทั้งกำหนดมาตรการสนับสนุนการลงทุนแล้ว นโยบายคลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขณะนี้คณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ได้ดำเนินการกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายได้แก่ Functional Textile คือ Sport Wear และ Uniform และ กลุ่ม Sustainable Fashion คือ สิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสิ่งทอสำหรับผู้สูงอายุ พร้อมกับปลดล็อคกิจการเกี่ยวกับการฟอก ย้อมสี ซึ่งเป็นคอขวดในการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ให้ผู้ประกอบการ สามารถตั้งและขยายโรงงานได้ และได้รับสิทธิประโยชน์จากบีโอไอภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดยสมาคมอุตสาหกรรมฟอกย้อมพิมพ์และตกแต่งสิ่งทอไทย จะจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อสร้างความเข้าใจและเชิญชวนการลงทุนในวันที่ 21 เม.ย.นี้

ส่วนการปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อให้สอดคล้องกับระบบ Consignment หรือ การฝากขายสินค้าตามห้างสรรพสินค้า เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการโดยเฉพาะSMEs นั้น คณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. กำลังพิจารณาเพื่อผลักดันร่างกฎหมายการฝากขายสินค้า ฉบับแรกของไทย ส่วนกรมสรรพากรกำลังศึกษาการออกกฎหมายฉบับใหม่ ควบคู่ไปกับการนำเสนอของภาคเอกชน พร้อมกับพิจารณาประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับที่ 8 และ ฉบับที่ 82 ให้เอื้อกับ SMEs ส่วนปรับปรุงระเบียบการรับรองวุฒิการศึกษาด้านวิชาชีพ ให้สามารถเทียบโอนกับระบบการศึกษาแบบวิชาชีพในยุโรป อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

สำหรับการดำเนินงานในระยะต่อไป คณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะเร่งรัดมาตรการในเรื่อง Sourcing Hub โดยตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น Sourcing Hub of ASEAN

และที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายคลัสเตอร์เกษตรแปรรูป ยังได้เห็นชอบที่จะผลักดันผลิตภัณฑ์เป้าหมายหลักใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.สารสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ 2.สารออกฤทธิ์จากวัตถุดิบธรรมชาติ 3.อาหารทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 4.ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ  โดยได้เร่งรัดให้มีการทบทวนการถ่ายโอนภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในเรื่องการขออนุญาต เร่งรัดการก่อสร้าง Rubber City ใน จ.สงขลา และ ศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายการจัดตั้ง Rubber City จ.ระยอง และกาญจนบุรี

ส่วนการดำเนินงานในระยะต่อไป จะร่วมหารือร่วมกับกระทรวงเกษตร เพื่อเร่งรัดการยกระดับ มาตรฐานสินค้าเกษตรแบบครบวงจรในเรื่องระบบ Traceability และแนวทางการส่งเสริมการลงทุน ไก่เนื้อ และพันธุ์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่ได้จาก By Product ในอุตสาหกรรมประมงต่อไป

ทั้งนี้หลังจากได้มีการกำหนดพื้นที่ คลัสเตอร์ และซูปเปอร์ คลัสเตอร์แล้ว ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการวางนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนสนองรับกับนโยบายของรัฐบาล และเพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนที่มีศักยภาพบังเกิดผลในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม สศอ.จึงได้จัดทำโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนที่มีศักยภาพสูงตามนโยบายของรัฐบาล จังหวัดเชียงราย และนครพนมขึ้น โดยพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดดังกล่าว เป็นพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพสูงและอยู่ในแผนการพัฒนาจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2559  นี้

ทั้งนี้ เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมมียุทธศาสตร์ กลยุทธ์ แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม และแผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดเชียงราย และนครพนมที่สอดคล้องกับศักยภาพด้านอุตสาหกรรมในพื้นที่และทิศทางการพัฒนาประเทศในภาพรวม รวมทั้งเชื่อมโยงการพัฒนากับประเทศเพื่อนบ้าน สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มาลงทุนในพื้นที่ อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของพื้นที่ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในอนาคต ส่วนการจัดทำร่าง พระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ…. นั้นอยู่ระหว่างการปรับปรุง ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) 

  1. ขับเคลื่อนแผนแม่บทการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม พ.ศ.2559-2564  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้บนเวทีการค้าโลก ด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ

                 -      ยกระดับผลิตภาพภาคอุตสาหกรรมด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมและระบบบริหารจัดการ
                 -      ยกระดับผลิตภาพแรงงานให้มีทักษะสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรม
                 -      พัฒนาปัจจัยแวดล้อมเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการเพิ่มผลิตภาพ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2560 สศอ. ได้เสนอของบประมาณจำนวน 1,017 ล้านบาท โดยสำนักงบประมาณได้มีการพิจารณาเห็นชอบให้ตั้งคำขอเป็นวงเงิน 543 ล้านบาท และในปี 2561 จะเพิ่มเรื่อง Innovation และ Standard มากขึ้น 

  1. พัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้มีบทบาทนำในการกำหนดทิศทางการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ โดยได้ดำเนินการสร้าง Platform/Community ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและร่วมมือของเครือข่ายภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมนำร่องในปีแรก ภายใต้ชื่อกลุ่ม innothai.net โดยการดำเนินการผ่าช่องทาง Line application Facebook  และยังจัดทำระบบฐานข้อมูลภายใต้ชื่อ www.innothai.net เพื่อง่ายต่อการสืบค้นข้อมูลงานวิจัย แหล่งทุน สิทธิประโยชน์  สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และข้อมูลความต้องการนวัตกรรมของภาคอุตสาหกรรม

ส่วนการดำเนินการโครงการในระยะต่อไป จะพิจารณาขยายเครือข่ายไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆในกลุ่มเกษตรแปรรูปและกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้นร่วมทั้งเชิญชวนสถาบันการเงินเข้าร่วมเครือข่ายด้วย

สำหรับแผนการดำเนินงานที่สำคัญในอนาคต ประกอบด้วย

  1. ส่งเสริมการผลิตยานยนต์ในอนาคต อาทิ รถยนต์ไฮบริด, รถยนต์ไฟฟ้า ขณะนี้ สศอ.อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลรายละเอียด เกี่ยวกับแผนการลงทุน พร้อมข้อเสนอเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในอนาคต หลังจากได้ร่วมประชุมหารือกับผู้ผลิตรถยนต์ 11 ราย คาดว่าจะสามารถนำเสนอต่อ รมว.อุตสาหกรรม และนายกรัฐมนตรี พิจารณาเร็วๆ นี้
  2. เรื่อง Consignment จะผลักดันให้เกิดการปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษีมูลค่ามูลค่าเพิ่ม ให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรมเพื่อเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME
  3. เสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมในมิติพื้นที่ตามศักยภาพของประเทศ โดยภาคอุตสาหกรรมจะต้องเชื่อมโยงกับภาคการเกษตรและบริการในทุกๆ ด้าน
  4. ศึกษาแนวทางการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวางยุทธศาสตร์ชาติแห่งอนาคต ประกอบด้วย

                 -      หน่วยสารสนเทศเพื่ออนาคต
                 -      หน่วยวิจัยภาพเหตุการณ์จำลองอนาคต
                 -      หน่วยเสริมสร้างศักยภาพองค์กร

  1. การพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมภาคอุตสาหกรรมจะดำเนินร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อผลักดันให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างภาคนวัตกรรม และภาคการผลิตอย่างเป็นระบบ