เนื้อหาวันที่ : 2016-04-11 11:31:08 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 638 views

นักมาตร มว. ร่วมสร้างเครือข่ายอัจฉริยะระดับโลก ณ เมืองลินเดา เยอรมนี

มว. วันนี้ เรามีอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างความปลาบปลื้มให้กับชาว มว. ไม่น้อย กับโอกาสครั้งสำคัญในการเปิดประตูสู่โลกนักคิดอัจฉริยะ ของ ดร. ปิยพัฒน์ พูลทอง แห่งห้องปฏิบัติการเวลาและความถี่ ฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า โดยได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 6 ผู้แทนประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมกระทบไหล่นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่ยิ่งใหญ่ ระดับโลก กับการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ประจำปี 2559  ( Lindau Nobel Laureate Meeting 2016 ) ระหว่างวันที่ 26 มิ.ย. – 1 ก.ค. 2559 ณ เมืองลินเดา ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  โดยปีนี้จะมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล 30 คน และนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จำนวน 402คนจาก 80ประเทศเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

ซึ่งการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล จัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 เรื่อยมา โดยมูลนิธิผู้ได้รับรางวัล โนเบล มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างเครือข่ายวิชาการระหว่างผู้ได้รับรางวัลโนเบลกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ซึ่งได้มีการเชื้อเชิญผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Laureates) และมีการคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ระดับหัวกะทิจากทั่วโลกให้เข้าร่วมการประชุมซึ่งจะมีขึ้นทุกๆปี ในช่วงระหว่างปลายเดือน มิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ณ เมืองลินเดา โดยจัดหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามสาขา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมีและ สรีรวิทยาหรือ แพทยศาสตร์ และสำหรับปี 2559 นั้นจะเป็นปีของสาขาฟิสิกส์

สำหรับในเมืองไทยได้มีการส่งผู้แทนเข้าร่วมตั้งแต่ปีพ.ศ. 2551 ตัวแทนประเทศไทยตั้งแต่ 2551-2559 มีทั้งหมด 45 คน ส่วนการคัดเลือกผู้แทนนั้นเรียกได้ว่าต้องลุ้นกันพอสมควร โดยเริ่มจากการ สัมภาษณ์ผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งจะเลือกจากผู้ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ปีที่ 4 จนถึงจบการศึกษาระดับปริญญาเอกไม่เกิน 5 ปี ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการประชุมในแต่ละปี  จากนั้นก็จะมีการส่ง ประวัติผู้สมัครที่ถูกคัดเลือกรอบแรกไปยังผู้แทนสมาชิกคณะผู้ก่อตั้งการประชุมฯ เพื่อร่วมพิจารณาและได้นำความขึ้นกราบบังคม ทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ให้ทรงมีพระราชวินิจฉัยคัดเลือกผู้แทนเป็น ขั้นตอนสุดท้าย

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากร ของมว. ได้รับโอกาสที่ดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการให้แก่บุคลากรของสถาบันได้มีโอกาสพบปะ เรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการจากประสบการณ์จริงของบรรดาอัจฉริยะระดับโลก โดยความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยจุดประกายให้กับบุคลากรของสถาบันในการที่จะเดินหน้าพัฒนาสถาบันของเรารวมถึงประเทศไทยอีกด้วย

 

ที่มาภาพและข่าว : สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ(มว.)