จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ IDC RoBoCon 2007 ครั้งที่ 18 และเป็นครั้งแรกในประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัด และเนื่องในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 120 ปี ไทย-ญี่ปุ่น
. |
จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ IDC RoBoCon 2007 ครั้งที่ 18 และเป็นครั้งแรกในประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัด และเนื่องในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 120 ปี ไทย-ญี่ปุ่น ในปี 2550 นี้ |
. |
ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ให้เกียรติเป็นประธานในการแถลงข่าว "การจัดแข่งขันการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์นานาชาติ IDC RoBoCon 2007" (International Design Contest) ซึ่งจัดโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้สนับสนุนหลัก คือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และสมาคมวิชาการหุ่นยนต์ไทย โดยได้รับเกียรติจาก Tokyo Institute of Technology หรือโตเกียวเทค ประเทศญี่ปุ่นให้จัดการแข่งขันหุ่นยนต์ครั้งนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 120 ปี ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 - 18 สิงหาคม 2550 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรอบตัดสิน ในวันที่ 18 สิงหาคม ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา กรุงเทพ ฯ ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2550 |
. |
ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ กล่าวในงานแถลงข่าวครั้งนี้ว่า เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัด “การแข่งขันหุ่นยนต์ IDC RoBoCon 2007 ครั้งนี้เหตุเนื่องจากในปี 2550 นี้เป็นปีที่ครบรอบ 120 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างไทย – ญี่ปุ่น โดยการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่ 18 แล้วซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้จะเป็นการประเดิมความสามารถของเด็กไทยร่วมกลุ่มกับเยาวชนนานาชาติจากอีก 5 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น อเมริกา บราซิล เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส และเนื่องจากช่วงเวลาการแข่งขันครั้งนี้อยู่ในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งถือเป็นวันแม่แห่งชาติ คณะกรรมการจึงกำหนดโจทย์เพื่อออกแบบและสร้างหุ่นยนต์บังคับมือให้มอบพวงมาลัยและดอกไม้ให้กับแม่ |
. |
ในการจัดแข่งขันครั้งนี้ประเทศไทยได้เปิดโอกาสให้ส่งเยาวชนไทยเข้าร่วมแข่งขัน 12 คน จากสถาบันต่าง ๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะจับฉลากเพื่อเข้าร่วมกลุ่มกับเด็กนานาชาติอีก 5 ประเทศซึ่งแต่ละประเทศจะส่งนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันโดยแบ่งออกเป็น 12 ทีม แบบคละประเทศ แต่ละทีมจะต้องออกแบบและสร้างหุ่นยนต์เพื่อตอบโจทย์ตามที่กรรมการกำหนดให้ และนำมาแข่งขันกันในวันสุดท้ายในรอบตัดสินชิงชนะเลิศในวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2550 ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2550 ณ ศูนย์การประชุมและนิทรรศการไบเทค บางนา สำหรับโจทย์การแข่งขันในปีนี้ เกี่ยวเนื่องกับวันแม่แห่งชาติของไทย โดยใช้โจทย์ว่า "Thank You Mae (Mom)!!" เทิดพระคุณแม่ด้วยการให้หุ่นยนต์นำพวงมาลัยและดอกไม้ผ่านอุปสรรคต่างๆ ไปมอบให้กับคุณแม่ เพื่อระลึกถึงพระคุณของแม่ |
. |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังกล่าวต่ออีกว่าการเป็นเจ้าภาพจัดงาน IDC RoboCon 2007 ในประเทศไทยครั้งนี้ แสดงถึงศักยภาพของประเทศและเยาวชนไทยให้ต่างประเทศได้รับรู้ เป็นการปูทางสู่เวทีระดับโลก ตอกย้ำให้เยาวชนตระหนักถึงการนำวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบหุ่นยนต์อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับแก่นานาประเทศ และที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้สร้างพันธมิตรระหว่างประเทศนอกเหนือจากการแข่งขัน |
. |
Mr. Kazuo Shibata Director Counselor Embassy of Japan in Thailand กล่าวแสดงความยินดีกับการร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดแข่งขัน IDC RoBoCon 2007 นี้ ว่า การส่งตัวแทนเยาวชนไทยเข้าร่วมการแข่งขันเป็นครั้งแรก นับเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ซึ่งสืบเนื่องมาครบรอบ 120 ปี เยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้จึงเป็นเสมือนผู้แทน สานต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ต้อนรับเยาวชนไทยในสนามแข่งขันครั้งต่อ ๆ ไป |
. |
รองศาสตราจารย์ ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า "นับเป็นโอกาสดีสำหรับเยาวชนไทยที่จะได้ร่วมพัฒนาความคิด แลกเปลี่ยนเทคนิคการทำงาน กับเพื่อนต่างชาติ ที่มาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงทางด้านเทคโนโลยีระดับโลก เป็นโอกาสให้เยาวชนไทยพัฒนาสู่การเป็นนักประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีในระดับนานาชาติ เรียนรู้การปรับตัวให้เข้ากับการทำงานจริง และมั่นใจว่าไทยจะก้าวไปเป็นหนึ่งในสมาชิกถาวรของการแข่งขัน IDC RoBoCon 2007 ต่อไปในอนาคตได้อย่างแน่นอน” สำหรับการแข่งขันจะเริ่มเก็บตัวทำเวิร์คชอป ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งผู้เข้าแข่งขันจะเริ่มเข้ากลุ่มหลังจบงานแถลงข่าววันนี้ (6 สิงหาคม 2550) ไปจนถึงวันแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2550 รวม 2 สัปดาห์ ซึ่งในระหว่างนั้นทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เข้าชมกระบวนการทำงานของกลุ่มเยาวชนแต่ละกลุ่ม ในวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม 2550 (ช่วงบ่าย) ตั้งแต่การวางแผน ออกแบบแปลนหุ่นยนต์ การจัดการกับงบประมาณที่มีจำกัด เพื่อหาอุปกรณ์เพิ่มเติม จากที่กำหนดไว้ให้ตามโจทย์ |
. |
ศาสตราจารย์ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์มีหน้าที่สำคัญในการถ่ายทอดความรู้ทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็มีความเชื่อมั่นว่าเยาวชนไทยมีความรู้ความสามารถในด้านการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์ไม่แพ้ชาติใดๆ การแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญที่จะทำให้เยาวชนเหล่านี้ได้นำความรู้และทักษะการทำงานเป็นทีมกับนักศึกษาชาติอื่น สร้างเป็นผลงานเพื่อพัฒนาศักยภาพของตน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยได้มีบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ |
. |
ด้านการเตรียมความพร้อมสำหรับนิสิตนักศึกษาไทยนั้น นายสิขรรณ วรรธนะสาร นิสิตคณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนเด็กไทยที่ เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ บอกเล่าถึงความพร้อมในการแข่งขันว่า มีการอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้เครื่องจักรกลต่างๆ ด้านความรู้ความสามารถของแต่ละประเทศใกล้เคียงกัน ส่วนปัญหาเรื่องของภาษาสามารถใช้ศัพท์เทคนิค และการวาดรูปเพื่อสื่อสารกันได้ สิ่งที่ท้าทายคือการได้ร่วมกลุ่มกับเพื่อนต่างชาติ ได้เรียนรู้แนวคิดในการทำงานและเทคนิคการประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่ต่างกัน ผมมั่นใจว่าเด็กไทย จะไม่ทำให้ผิดหวังในการร่วมกลุ่มกับเยาวชนนานาชาติ |
. |
ร่วมเชียร์และเป็นกำลังใจให้เยาวชนไทยและนักประดิษฐ์นานาชาติ พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าของการแข่งขันได้ทางเวบไซต์ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ http://www.mtec.or.th หรือเวบไซต์โครงการ http://www.idc.ctrl.titech.ac.jp/idc07/ |