“คนอยู่ดี ธรรมชาติอยู่ได้” หมายถึงการอยู่ร่วมอย่างเกื้อกูลกันระหว่างคนกับธรรมชาติ แต่หากคนทำร้ายธรรมชาติ ก็จะทำให้ทั้งคนและธรรมชาติไม่สามารถอยู่ได้
ในวันนี้ หลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งยาวนานต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 3 และเป็นปีที่มีการคาดการณ์ว่า สถานการณ์ภัยแล้งจะมีความรุนแรงมากกว่าช่วงที่ผ่านมา ภัยแล้งเกิดจากปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าปกติจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่และป่าไม้ที่ถูกทำลายทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำ การแก้ไขในเวลานี้ทำได้โดยการผันน้ำในแม่น้ำลำคลอง การขุดเจาะน้ำบาดาล การสร้างฝายชะลอน้ำ การจัดทำฝนเทียม เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรมในเบื้องต้น ส่วนการแก้ไขในระยะยาวที่หลายภาคส่วนได้เข้ามารณรงค์ คือ การสนับสนุนการปลูกป่าและส่งเสริมป่าชุมชน เพื่อสร้างให้เกิดแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
ผู้นำป่าชุมชนร่วม 100 ชีวิตในนามของ “เครือข่ายผู้นำป่าชุมชนกล้ายิ้มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลปกป้องรักษาผืนป่าให้คงอยู่อย่างยั่งยืน โดยได้จัดสัมมนาเครือข่ายเพื่อการศึกษาเรียนรู้ที่ป่าชุมชนบ้านหนองเจริญ ตำบลขอนยูง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี โดยมีจุดเด่นในด้านการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการดูแลรักษาป่าชุมชน เพื่อให้ผู้ที่มีเจตนารมณ์เดียวกันได้มาพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานป่าชุมชน และเกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการป่าชุมชนให้ดียิ่งขึ้น โดยปัญหาและหนทางแก้ไขของป่าชุมชนหนึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาให้กับป่าชุมชนอื่น
นายรัมย์ เหราบัตต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง กล่าวว่า “การส่งเสริมชุมชนที่อยู่รอบๆป่าให้มีส่วนร่วมดูแล ฟื้นฟู และรักษาป่าไม้ ถือเป็นแนวทางเสริมสร้างเครื่องมือเชิงรุกเพื่อการอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืน ตามเจตนารมย์และนโยบายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ที่เราให้การสนับสนุนอย่างจริงจังผ่านโครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน โดยดำเนินการร่วมกับกรมป่าไม้มาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อปกป้องรักษาผืนป่าให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “คนอยู่ดี ธรรมชาติอยู่ได้” โดยป่าไม้เป็นแหล่งอาหารของชุมชนและเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และที่สำคัญคือเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพ ช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี เราจึงมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะมีส่วนร่วมส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนดูแลรักษาป่า เพื่อขยายพื้นที่ป่าให้เพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของประเทศ การดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้คงจะไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่เราเชื่อว่าทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนคือพวกเราที่อยู่ในท้องถิ่นต่างๆ จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ต้องร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ เป็นภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง จึงจะประสบผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืน”
ป่าชุมชนตัวอย่างบ้านหนองเจริญ ซึ่งเคยได้รับรางวัลป่าชุมชนตัวอย่างระดับจังหวัด โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ประจำปี 2557 เป็นป่าชุมชนที่มีการใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดบนพื้นฐานของการดูแลรักษาให้คงความสมบูรณ์ไว้ โดยชุมชนได้จัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครรักษาป่าและป้องกันไฟป่าภูพานน้อย-ถ้ำสิงห์ ซึ่งชุมชนได้ทุ่มเทและเสียสละในการปฏิบัติหน้าที่ มีการลาดตระเวนเพื่อป้องกันการบุกรุกป่าและป้องกันการเกิดไฟป่า นอกจากนี้ จุดเด่นอีกประการของป่าชุมชนบ้านหนองเจริญ คือ การพัฒนาทรัพยากรในชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศถ้ำสิงห์ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ด้วยต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่มีประกอบกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชุมชนในเรื่องการอนุรักษ์ ทำให้ป่าชุมชนบ้านหนองเจริญมีการพัฒนาป่าชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยชุมชนมีการปรับตัวเพื่อพยายามที่จะรักษาความสมบูรณ์ทางธรรมชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชน
นอกจากศึกษาดูงานจากป่าชุมชนบ้านหนองเจริญแล้ว เครือข่ายกล้ายิ้มยังได้เรียนรู้เรื่องพลังงานชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีพลังงานชุมชนที่ใกล้ตัว ได้แก่ เตาซุปเปอร์อั้งโล่ เตาชีวมวล เตาเผาถ่านแบบตั้ง เป็นต้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีพลังงานที่ใกล้ตัวชุมชนสามารถหาวัตถุดิบในชุมชนมาใช้ได้ง่าย ลดการใช้พลังงานที่ใช้แล้วหมดไป ลดรายจ่ายในครัวเรือนและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน รวมทั้งการทำปุ๋ยชีวภาพ และการและการทำน้ำจุลินทรีย์ ซึ่งนอกจากเกิดประโยชน์ในเชิงอนุรักษ์แล้วยังช่วยรักษาคุณภาพดินและสิ่งแวดล้อมต่างๆ จากสารเคมี เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม
นายสีหา มงคลแก้ว ประธานป่าชุมชนดงใหญ่บ้านวังอ้อ จ.อุบลราชธานี หนึ่งในเครือข่ายกล้ายิ้ม กล่าวว่า ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการป่าของแต่ละป่าชุมชน เช่น การแต่งตั้งกรรมการบริหารป่า การแบ่งเขต การแก้ไขปัญหาไฟป่าและการบุกรุกป่า ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ปัญหาจากแต่ละคน ทำอย่างไรที่ทำให้ชาวบ้านทั้งหมดมามีส่วนร่วมเพราะอยากให้ชาวบ้านในป่าชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น นอกจากนี้ ก็มีความสนใจในเรื่องประโยชน์ของสมุนไพรในป่าเพื่อนำมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยในเบื้องต้นเพราะชุมชนอยู่ไกลจากโรงพยาบาล
นายสะอาด บาริศรี ประธานป่าชุมชนโคกหินลาดตำบลนาข่า จ.มหาสารคาม กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมทำให้ได้รับความรู้เรื่องการบริหารจัดการป่าและแนวทางการบริหารจัดการป่าชุมชน รวมทั้งแหล่งอาหารในป่าและสมุนไพร การบริหารแบบการมีส่วนร่วม ป่าชุมชนโคกหินลาดตำบลนาข่าเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนและโรงเรียนเข้ามาศึกษา ซึ่งจะนำความรู้ใหม่ๆ ไปปรับใช้เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศสำหรับประชาชน ที่ผ่านมามีคนฝ่าฝืนบุกรุกป่าเพื่อทำการเกษตร เช่น ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกอ้อย การจุดไฟเผาป่า เพราะไม่เข้าใจ แต่ปัจจุบันมีความเข้าใจมากขึ้น ทั้งนี้ ป่าชุมชนได้สร้างกฎระเบียบป่าชุมชน มีบทลงโทษการบุกรุกป่า และพยายามจัดทำแนวเขตป่าชุมชนให้ชัดเจน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้
การได้เรียนรู้ในการบริหารจัดการป่าชุมชนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งจากการศึกษาเรียนรู้ป่าชุมชนบ้านหนองเจริญและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้นำป่าชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วยกันเอง ทำให้ผู้นำป่าชุมชนเห็นแนวทางในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้ในการกลับไปพัฒนาป่าชุมชนของตนเอง ที่สำคัญคือ เกิดเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนกล้ายิ้มที่เข้มแข็ง ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น เพื่อช่วยกันรักษาป่าไม้และทรัพยากรของชาติให้อุดมสมบูรณ์ และคงอยู่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
“เครือข่ายผู้นำป่าชุมชนกล้ายิ้มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการคนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลปกป้องรักษาผืนป่าให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
ผู้นำป่าชุมชนเยี่ยมชมป่าชุมชนบ้านหนองเจริญ