กระทรวงอุตสาหกรรม จัดพิธีมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณสถานประกอบการที่เข้าร่วม “โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค” ตามนโยบาย One Province One Agro – Industrial Product หรือโครงการ OPOAI ประจำปี 2558 โดยภาพรวมการประเมินโครงการฯ ในระดับผลลัพธ์ (Outcome) ภาครัฐได้ใช้งบประมาณในการส่งเสริมผู้ประกอบการเป็นจำนวนเงิน 37 ล้านบาท ก่อให้เกิดผลประโยชน์รวมที่ประเมินได้ 492,094,972.52 โดยมีสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 158 แห่ง
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นภาคที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมาโดยตลอด ซึ่งการดำเนินโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาคตามนโยบาย One Province One Agro-Industrial Product หรือ OPOAI (โอปอย) ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสถานประกอบการ เพื่อลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ /ระบบมาตรฐานสากล รวมถึงกำหนดให้มีกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงการหาช่องทางการตลาด ซึ่งการทำงานเป็นการบูรณาการร่วมกันในลักษณะไตรภาคีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค เพื่อให้สถานประกอบการสามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับแนวทางการดำเนินโครงการ OPOAI นั้น กระทรวงฯ ได้จัดทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ปรึกษาแนะนำสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ผ่านแผนงานพัฒนาที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ใน 6 ด้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่กระบวนการพัฒนา สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ทำให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ อย่างเป็นรูปธรรม
โดยโครงการ OPOAI ประจำปี 2558 มีผู้ประกอบการเข้าร่วม จำนวน 158 ราย ซึ่งสามารถประเมินผลได้ดังนี้
1) มูลค่าผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงิน (market value) จากการประเมินผลกระทบของโครงการ OPOAI ประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเกิดจากการที่โรงงานทั้งหมด 158 แห่งที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถขยายองค์ความรู้ให้แก่สถานประกอบการอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ รวมทั้งหมดมีมูลค่าผลประโยชน์ประมาณ 135,736,196.66 บาท ซึ่งถือเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของรัฐในการส่งเสริม และพัฒนาสถานประกอบการรายอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ
2) มูลค่าผลประโยชน์ที่ไม่เป็นตัวเงิน (non-market value) ได้แก่ ทัศนคติของผู้ประกอบการ SMEs อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรที่มีต่อหน่วยงานภาครัฐเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี มีการให้ความร่วมมือมากขึ้น เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อกระทรวงอุตสาหกรรมในสายตาของผู้ประกอบการ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป เพราะแผนงานต่างๆ ภายใต้โครงการฯ สามารถแก้ปัญหาของสถานประกอบการได้อย่างตรงประเด็น และเกิดเครือข่ายกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร (cluster) ในพื้นที่
สำหรับมูลค่าผลประโยชน์รวมโครงการฯ ที่ประเมินได้สูงถึง 492,094,972.52 บาท นั้น สามารถแยกจัดอันดับตามแผนงานต่างๆ ได้ดังนี้
อันดับที่ 1 : แผนงานที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ให้ผลประโยชน์สูงสุดคิดเป็นมูลค่า 266,562,353.20 บาท (54.17%)
อันดับที่ 2 : แผนงานที่ 6 การพัฒนากลยุทธ์การขับเคลื่อนการตลาด
ให้ผลประโยชน์คิดเป็นมูลค่า 128,466,259.20 บาท (26.11%)
อันดับที่ 3 : แผนงานที่ 1 การบริหารจัดการโลจิสติกส์
ให้ผลประโยชน์คิดเป็นมูลค่า 41,853,428.80 บาท (8.51%)
อันดับที่ 4 : แผนงานที่ 3 การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน
ให้ผลประโยชน์คิดเป็นมูลค่า 30,856,168.80 บาท (6.27%)
อันดับที่ 5 : แผนงานที่ 4 การลดต้นทุนพลังงาน
ให้ผลประโยชน์คิดเป็นมูลค่า 24,356,762.52 บาท (4.95%)
อันดับที่ 6 : แผนงานที่ 5 การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์หรือระบบมาตรฐานสากล
ให้ผลประโยชน์ที่ไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากตัวชี้วัดเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการยื่นขอระบบมาตรฐานต่าง ๆ
ปี 2558 โครงการ OPOAI มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 158 แห่ง ใน 240 แผนงาน โดยสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ มากที่สุดมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรอื่นๆ (อาหารสัตว์ ก๊าซชีวภาพ นพพาสเจอร์ไรซ์ เกลือ) คิดเป็น 34.81% อันดับสองได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปข้าว 27.22% และอันดับสาม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปพืชไร่ 10.13%.ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเข้าร่วมโครงการฯ น้อยที่สุดคือ กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปสมุนไพรและสปา (0.63%)
สำหรับภูมิภาคที่มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ มากที่สุดคือ ภาคกลางและภาคตะวันออก คิดเป็น 35.00% อันดับที่ 2 คือ ภาคเหนือ 26.25% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20.83% และภาคใต้ 17.92 % ตามลำดับ ทั้งนี้ แผนงานทั้งหมด 240 แผนงาน ที่สถานประกอบการเข้าร่วม มีการกระจายแผนงานดังนี้ แผนงานที่ 2 ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นแผนงานที่ผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมดำเนินการมากที่สุด 33.33% แผนงานที่ 4 ด้านการลดต้นทุนพลังงาน เท่ากับ 20% แผนงานที่ 6 ด้านกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาด เท่ากับ 16.67% แผนงานที่ 3 ด้านการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณงาน เท่ากับ 13.33% แผนงานที่ 5 ด้านการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์/ระบบมาตรฐานสากล และแผนงานที่ 1 ด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ เท่ากับ 8.33 % ตามลำดับ
สำหรับผลการคัดเลือกสถานประกอบการดีเด่น (Good Practice) ซึ่งได้ขึ้นรับมอบโล่รางวัลในครั้งนี้ มีจำนวน 10 สถานประกอบการ ได้แก่
บริษัท มิตรนำชัย ไรซ์ จำกัด, บริษัท บลูสไปซ์ จำกัด, บริษัท เมธีภูเก็ต จำกัด, บริษัท เนเซอรัล ซัพพลาย 2000 จำกัด, บริษัท โชคชัยไพบูลย์ จำกัด, โรงงานอุดมขนมปัง,บริษัท เอเชีย พลัส ฟีด มิลล์ จำกัด, สหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์กพัฒนานิคม จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธัญชนกพืชผล และโรงงานลูกชิ้นพิษณุโลก ราม่า