ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Startup Disrupts Thailand ณ โรงแรมสุโกศล โดยได้มีการระดมไอเดียจากสตาร์ทอัพ และหน่วยงานส่งเสริมสตาร์ทอัพทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อหาแนวทางการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งสตาร์ทอัพเหล่านี้ถือเป็นนักรบพันธุ์ใหม่ที่มีศักยภาพสูงที่จะทำให้สังคม เศรษฐกิจ วิถีชีวิต เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ของไทย เอเชีย และโลก เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ พบว่า สตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจอยู่ในประเทศไทย สามารถจัดกลุ่มได้ 8 สาขา ได้แก่ เกษตรและอาหาร อสังหาริมทรัพย์ ไลฟ์สไตล์ อีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ การเงิน บริการภาครัฐ สุขภาพ และอุตสาหกรรมผลิต ซึ่งขณะนี้ ตลาดหลักของสตาร์ทอัพเหล่านี้ยังอยู่ภายในประเทศและ AEC แต่ได้มองตลาดอนาคตที่ต้องการเข้าไป เช่น ตลาดอียู อเมริกาใต้ และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ได้นำกระบวนการคาดการณ์อนาคตมาใช้เพื่อช่วยกำหนดโจทย์ความท้าทายในอนาคตที่เป็นโอกาสสำหรับสตาร์ทอัพไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น ความต้องการของผู้สูงอายุ การรับมือภัยแล้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความต้องการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงาน ระบบการสอบย้อนกลับ การใช้บรรจุภัณฑ์ชีวภาพทดแทนพลาสติก อาหารเฉพาะทาง การลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในสังคม การมีส่วนร่วมของชุมชน และการปรับปรุงประสิทธิภาพของภาครัฐ เป็นต้น
โฆษกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวต่อว่า ไอเดียที่จะได้จากการประชุมปฏิบัติการครั้งนี้จะถูกนำไปใช้ในการจัดงาน Startup Thailand 2016 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับกระทรวงไอซีที และอีก 10 กระทรวง จะจัดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน – 1 พฤษภาคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อให้สตาร์ทอัพได้รับความรู้และบริการตรงตามความต้องการ โดยได้เชิญวิทยากรที่เป็นสตาร์ทอัพชื่อดังของโลกและไทยมาสร้างแรงบันดาลใจและบอกเล่าประสบการณ์ นอกจากนั้น ภายในงาน จะมีการจัดนิทรรศการและบรรยากาศ เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพแลกเปลี่ยนไอเดียและค้นหาศักยภาพในการทำธุรกิจร่วมกัน หลังจากหน่วยงานส่งเสริมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะนำความต้องการและข้อเสนอแนะของสตาร์ทอัพ มาจัดทำนโยบายเพื่อส่งเสริมและลดข้อจำกัดต่างๆ ที่สตาร์ทอัพต้องเผชิญอยู่ เช่น การปรับแก้กฎหมาย การเปิดเผยข้อมูลของทางราชการ และการสนับสนุนทางด้านการเงิน เป็นต้น ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ www.thailandstartup.org
ประสานงานได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail: pr@most.go.th Facebook: sciencethailand
Call Center กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โทร.1313