เนื้อหาวันที่ : 2016-03-22 11:15:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1551 views

ทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2574)

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปาฐกถาพิเศษ เรื่องการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติสู่การปฏิบัติ ในการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่อง "ทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2559 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวรายงานการจัดประชุมว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) มีภารกิจหลักในการจัดทำนโยบายและแผนการศึกษาแห่งชาติ ที่บูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม กีฬากับการศึกษาทุกระดับ ทุกประเภท โดยแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดเวลาของแผนในปี 2559 เพื่อให้ทันเวลาในการประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับต่อไปในปี 2560 สกศ.จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนการศึกษา พ.ศ.2560-2574 ระยะเวลา 15 ปี เพื่อเป็นแผนแม่บทสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการศึกษาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ที่เน้นการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความครอบคลุมและเป็นที่ยอมรับของผู้เกี่ยวข้อง

โดย สกศ. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรรมการสภาการศึกษาเฉพาะกิจ ด้านจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติดำเนินการ ร่างกรอบทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2574 เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงมีการจัดประชุมในวันนี้เพื่อนำเสนอทิศทางของแผนและระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในกรุงเทพฯ และรับฟังความคิดเห็นใน 4 ภูมิภาค เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับแก้เพิ่มเติมสาระในร่าง กรอบทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมจัดทำรายละเอียดของแผนต่อไป

ร่างกรอบทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 ประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 9 ด้าน คือ
1) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการศึกษา
2) ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระดับสถานศึกษา
3) ยุทธศาสตร์การกระจายอำนาจไปสู่สถานศึกษา
4) ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม
5) ยุทธศาสตร์การปรับระบบและกลไกการบริหารงานบุคคล
6) ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา
7) ยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลผู้เรียน
8) ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อสนองตอบตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ (สถาบันอาชีวศึกษา/สถาบันอุดมศึกษา)
9) ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ได้กล่าวเปิดงานมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า จากการนำเสนอความเป็นมาในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ จะเห็นได้ว่าทุกคนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร แต่การพัฒนาบุคลากรนั้นยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น การระดมความคิดเห็นครั้งนี้ เพื่อนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประสบการณ์ของทุกท่าน ณ ที่นี้ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และจะเป็นโอกาสสำคัญในการวางรากฐานสู่อนาคตอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งการเตรียมการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรและระบบการศึกษาของประเทศครั้งนี้ ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ที่จะพิสูจน์ว่าประเทศจะไปตามทิศทางที่คาดหวังไว้หรือไม่

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ขณะนี้ประเทศต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย และประชาชนก็ยังต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลในการที่จะเข้าถึงการบริการของภาครัฐ โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียม เพื่อจะหลุดพ้นจากการเป็นประชากรรายได้น้อยสู่รายได้ปานกลางในอนาคตอันใกล้ ซึ่งแน่นอนว่าการศึกษาทำให้เกิดปัญญา แต่ปัญญาอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องมีการสร้างเสริมบุคลากรอย่างครบถ้วนและรอบด้าน ให้มีความพร้อมต่อบริบทที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการสร้างบุคลากร ก็คือครูและผู้บริหารทุกคนที่อยู่ ณ ที่นี้ ที่จะเป็นผู้สร้างบุคลากรที่ดีให้กับประเทศ ดังนั้นครูและผู้บริหารต้องมีการเตรียมพัฒนาตนเองทั้งด้านวิชาการและความคิดที่เกิดประโยชน์กับการสร้างแผนงานต่างๆ เพื่อนำพาบุตรหลานไปสู่ความก้าวหน้าต่อไป ซึ่งตนมีความเชื่อมั่นในตัวครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ตลอดจนเชื่อมั่นต่อ สกศ. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าจะสามารถระดมความคิดเห็น วางกรอบ และบรรจุนัยสำคัญไว้ในแผน พร้อมขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบสอดคล้องกับการปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาล และแผนของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ทั้งในแง่ของสังคมและเศรษฐกิจด้วย จึงขอเป็นกำลังใจและขอบคุณที่จัดการประชุมระดมความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในครั้งนี้ และมีความยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ เท่าที่จะสามารถดำเนินการให้ได้

ภายหลังการเปิดประชุม รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 สู่การปฏิบัติ” ดังนี้

การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ เปรียบเสมือนเป็นแผนธรรมนูญด้านการศึกษา ซึ่งต้องการให้เป็นกรอบการศึกษาที่มีแนวทางที่ชัดเจน เพื่อให้กระทรวงศึกษาธิการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม และต้องยอมรับว่าจากสภาพการศึกษาของไทยจากวันนี้ไปถึงอีก 15 ปีข้างหน้า กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้เริ่มต้นจาก 5 หรือ 6 แต่บางเรื่องเริ่มต้นจากศูนย์หรือติดลบเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นการจะวางแผนการศึกษาในอนาคตข้างหน้าอีก 15 ปี เราต้องย้อนกลับมาดูตัวเองเพื่อทบทวนการดำเนินการที่ผ่านมา แก้ไขปัญหาให้ได้ จึงจะสามารถวางแผนและเดินหน้าขับเคลื่อนงานการศึกษาต่อไปข้างหน้าได้

ในส่วนของร่างกรอบทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ ที่ สกศ.ได้ดำเนินจัดทำขึ้น โดยมียุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน 9 ด้านนั้น ถือว่ามีความครอบคลุมทุกเรื่องอยู่แล้ว แต่ก็ต้องการเน้นย้ำใน 9 ประเด็นที่ต้องการจะเห็นอยู่ในแผนการศึกษาฉบับใหม่นี้ ได้แก่

หา “หล่ม” หรือปัญหาให้เจอ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องหาให้เจอให้ได้ เมื่อหาเจอแล้วก็ต้องจัดทำแผนออกจากหล่มภายในห้วงแรกของแผนการศึกษาชาติให้ได้ อาทิ ประเด็นปัญหาของจุดเน้นตามกรอบการปฏิรูปการศึกษา อาทิ เรื่องของครู ที่มีแหล่งผลิตครูถึง 60 แหล่ง จะทำอย่างไรให้แต่ละแหล่งมีมาตรฐานการผลิตที่เท่าเทียมกัน เป็นต้น

ความเชื่อมโยงของแผนการศึกษาแต่ละกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การอาชีวศึกษา และการอุดมศึกษาของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่แผนงานของการศึกษาแต่ละระดับจะต้องมีความชัดเจน ต่อเนื่อง และสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะช่วงของรอยต่อในแต่ละระดับจนถึงการทำงานภายหลังจบการศึกษา อาทิ นักเรียนชั้น ม.6 ที่จะต้องสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ทั้งผู้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษาไม่ควรที่จะต้องโทษกันว่าใครสอนดีไม่ดี แต่ควรที่จะจับมือเดินไปด้วยกัน สพฐ.ก็ต้องผลิตครู ฝึกอบรมและพัฒนาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนมหาวิทยาลัยเองก็ต้องมีแผนในการผลิตและพัฒนานิสิตนักศึกษาอย่างเป็นระบบและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน โดยเฉพาะทักษะในการทำงานที่ไม่เพียงความรู้ด้านวิชาการเท่านั้น แต่จะต้องมีทักษะในการใช้ชีวิตด้วย ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับจ๊อบไทยดอทคอม และแคเรียร์วีซ่า ได้เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “ช่องว่างทักษะที่สำคัญในโลกการทำงาน” เพื่อใช้เป็นแนวทางการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีจากทั่วประเทศ

โดยมีทักษะ 7 ประการ ที่สถานศึกษาควรเร่งพัฒนาให้นิสิตนักศึกษา ประกอบด้วย
1) ต้องกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
2) เป็นได้ทั้งผู้นำ ผู้ตาม และผู้ช่วย ในทุกสถานการณ์ พร้อมทำงานที่ท้าทาย โดยมองประโยชน์องค์กรมากกว่าประโยชน์ตนเอง
3) สามารถคิดและทำได้เองโดยไม่ต้องรอคำสั่ง
4) ต้องมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จ และได้ผลลัพธ์ตามที่ตั้งไว้
5) มีทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากการศึกษาเข้าสู่การทำงาน
6) มีคุณสมบัติการทำงานแบบมืออาชีพ ตรงต่อเวลา รักษามารยาทในการทำงานอยู่เสมอ และมีความอดทนอดกลั้น สามารถแยกแยะเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับงานออกได้
7) มีความสามารถในการสื่อสารที่เป็นระบบ รู้จักลำดับความสำคัญในการสื่อสารให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจได้ในทันที สามารถโน้มน้าวผู้รับสารให้คล้อยตามได้ และมีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่สาม

ดังนั้น ขอให้ทั้งครูและคณาจารย์ ช่วยทบทวนด้วยว่าได้ให้ความรู้หรือสอนสิ่งเหล่านี้ให้กับผู้เรียนของเราหรือไม่ โดยเฉพาะการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยขอให้ช่วยส่งเสริมทักษะทั้ง 7 ด้านให้แก่นิสิตนักศึกษาด้วย พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวศึกษาเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนการศึกษาชาติเดินหน้าไปพร้อมกันอย่างเป็นระบบ และขออย่าใช้ค่านิยมเดิมๆ ที่ทำเพียงสอนให้จบปริญญาเท่านั้น แต่ก่อนจะจบเด็กต้องได้รับการเตรียมตัวเป็นอย่างดีด้วย

แผนต้องปฏิบัติได้จริง โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน จะต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดทำแผน ซึ่ง สกศ.จะต้องพิจารณาว่ามีหน่วยงานใดเกี่ยวข้องบ้าง จากนั้นจึงจะระบุไว้ในแผนในแต่ละช่วง ทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีสิ่งสำคัญคือทุกคนต้องรับรู้ว่ามีความเกี่ยวข้องส่วนใดอย่างไร และมีเป้าหมายหรือตัวชี้วัดในการดำเนินงานแต่ละห้วงอย่างไร ดังนั้นเมื่อทุกกระทรวงได้ร่วมจัดทำและรับรู้แผนดังกล่าวแล้ว ก็จะสามารถกลับไปทำแผนปฏิบัติในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบได้ต่อไป

แผนต้องดำรงความมุ่งหมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความอ่อนตัว ที่จะสามารถปรับเปลี่ยนแผนได้ตามสภาพแวดล้อมและสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การทำงานขับเคลื่อนมีความราบรื่น แต่ก็ไม่ควรจะปรับหรือเปลี่ยนแปลงเป้าหมายที่ตั้งไว้ มิฉะนั้นจะไม่มีอะไรสำเร็จเลย

การกระจายอำนาจ ซึ่งมีอยู่ในร่างกรอบแผนการศึกษาอยู่แล้ว แต่ขอให้ใช้เงื่อนไขในการดำเนินการในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ไม่ควรใช้ห้วงเวลาเป็นตัวกำหนด ทราบว่าทุกคนคงรู้ดีถึงประสบการณ์การกระจายอำนาจที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร โดยคำว่า เงื่อนไข ในที่นี้หมายถึงต้องหาปัจจัยในความพร้อมให้ครบถ้วนชัดเจน และนำมาใช้เป็นตัวกำหนดการกระจายอำนาจ ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องทำพร้อมกันทั้งหมดในทุกโรงเรียน ทุกมหาวิทยาลัย หรือในทุกเรื่อง

การประเมินผล ควรมีการระบุหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไว้ในแผน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานประเมินของภาครัฐหรือองค์การมหาชน และจะต้องปฏิบัติตามแผนด้วย ทั้งการประเมินตามเรื่องและห้วงเวลาที่ระบุไว้ในแผน การประเมินทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแผนนี้ เพื่อจะได้นำผลการประเมินมาปรับปรุงแผน ปรับปรุงการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้อย่างถูกต้องและตรงประเด็น

การวิจัย ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในหล่ม จึงขอให้มีการระบุการศึกษาวิจัยไว้ในแผนอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยในประเด็นปัญหาและพัฒนาส่วนต่างๆ อย่างมีเหตุผลและมีแนวทางที่ชัดเจน ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการจะร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อศึกษาในประเด็นต่างๆ ที่จะรองรับการพัฒนาประเทศต่อไป อย่างไรก็ตามขอเสนอให้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย เพื่อนำความสามารถและศักยภาพด้านการวิจัยของอาจารย์และศาสตราจารย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาของประเทศด้วย

การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของร่างแผนอยู่แล้ว และตนก็ต้องการให้มีคณะทำงานประชารัฐรวมอยู่ในแผนด้วย เพราะเรื่องของการศึกษามีความเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ประกอบกับขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมเป็นคณะทำงานประชารัฐอยู่แล้วใน 2 คณะ คือการจัดการศึกษาตามด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ และด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ

งบประมาณ ที่ผ่านมากระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมจัดทำแผนรายจ่ายงบประมาณร่วมกับสำนักงบประมาณอยู่แล้ว โดยจะคำนึงถึงสถานการณ์คลังของประเทศเป็นหลัก ดังนั้นการจัดทำงบประมาณของแต่ละหน่วยขอให้ตระหนักถึงส่วนนี้ด้วย ไม่ควรของบประมาณมากจนเกินไป ที่อาจจะทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนหรือเป้าหมายที่วางไว้ อย่างไรก็ตามในส่วนของงบบูรณาการอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว

 

ที่มารูปและข่าว : กระทรวงศึกษาธิการ