เนื้อหาวันที่ : 2016-03-22 09:59:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1524 views

37 ปี กระทรวงวิทย์ฯ ชูธงใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตั้งเป้าเพิ่มลงทุนวิจัยและพัฒนา 2 เท่าในปี 60

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรมวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเวียนมาครบรอบปีที่ 37 และจัดพิธีมอบเกียรติบัตร “คนดีศรี วท.” ประจำปี 2558 ซึ่งมีผู้ได้รับเกียรติบัตร “คนดีศรี วท. จำนวน 17 ราย โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานในพิธีและมีหัวหน้าหน่วยงานในสังกัด ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมในพิธี ณ ห้องโถงชั้น1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯเกิดขึ้นจากการเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะสามารถพัฒนาประเทศให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยในวันที่ 24 มีนาคม 2522 ได้มีประกาศจัดตั้งเป็นกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงาน รับโอนหน่วยงานที่มีอยู่เดิม ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานพลังงานแห่งชาติ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์แห่งประเทศไทย จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติ 3 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จัดตั้งเทคโนธานีและอุทยานวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อรวมการวิจัยครบวงจร

ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ จากประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรและแรงงานราคาถูก ไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งรัฐบาลกำหนดนโยบายสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์ จากผลงานวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในเชิงพาณิชย์กำหนดเป้าหมายเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเป็น 2 เท่าภายในปี 2560 และเพิ่มบุคลากรวิจัยจาก 12 คน เป็น 25 คนต่อประชากร 10,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ การขับเคลื่อนดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนบนฐานความร่วมมือของกลไกประชารัฐ

ปัจจุบัน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นหนึ่งในกระทรวงด้านเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอีและผู้ประกอบการโอท็อป โดยให้คำปรึกษาการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงสินค้าและกระบวนการผลิต ให้ได้มาตรฐานและคุณภาพผ่านโครงการสำคัญต่างๆ ได้แก่ โครงการ ITAP โครงการคูปองนวัตกรรม โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้สนับสนุนการนำผลงานวิจัยเข้าสู่ตลาด ผ่านโครงบัญชีนวัตกรรม  ที่เชื่อมโยงกับตลาดนวัตกรรมของภาครัฐ  โครงการ “หิ้งสู่ห้าง” 30,000 บาท ทุกการจดสิทธิบัตร โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าถึงสิทธิในการใช้ผลงานที่มีการจดสิทธิบัตร 3-5 ปี และมีค่าธรรมเนียมเพียง 30,000 บาท การยกเครื่องการบริหารระบบวิจัยที่สอดคล้องกับโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ของประเทศ และยังให้ความสำคัญกับธุรกิจเกิดใหม่ หรือที่เรียกว่า Startup เพื่อสร้างความตื่นตัวของสังคม Startup ในประเทศไทย และเร่งการเติบโตและเพิ่มโอกาสของ Startup ไทย โดยรัฐสนับสนุนกลไกส่งเสริมนวัตกรรมและแรงจูงใจด้านต่างๆ เช่น กองทุน Venture Cap กองทุนสร้างความสามารถการแข่งขัน 10,000 ล้านบาท มาตรการส่งเสริมนวัตกรรมของ BOI เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และลดหย่อนได้อีกครึ่งหนึ่งหลังจากนั้นอีก 5 ปี การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้เชี่ยวชาญไทยและต่างชาติ การยกเว้นภาษีอากรเครื่องจักรขาเข้า เป็นต้น การหักลดหย่อนภาษีของค่าใช้จ่ายวิจัยพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ถึง 3 เท่า (หรือภาษี 300 เปอร์เซ็น) การยกเว้นภาษีเงินได้ Startup 5 ปี เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อวางรากฐานสำหรับอนาคต

ขณะนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังขับเคลื่อนโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ด้านอาหาร ผ่านโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ Food Innopolis ซึ่งเป็นหนึ่งในซุปเปอร์คลัสเตอร์ที่รัฐบาลสนับสนุน โดยจะมีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม บนพื้นที่กว่า 60,000 ตารางเมตร ล้อมรอบด้วยศูนย์ความเป็นเลิศด้านต่างๆ เช่น ห้องปฏิบัติการวิจัยและมาตรฐาน โรงงานต้นแบบ นักวิจัยในพื้นที่ของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ที่พร้อมสนับสนุนการทำงานของภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างสินค้าและบริการอาหารมูลค่าสูง เป็นแหล่งรายได้ใหม่ของประเทศ เพิ่มการจ้างงานของนักวิจัย และเป็นศูนย์กลางการวิจัยพัฒนา นวัตกรรมด้านอาหารระดับโลก ยกระดับคุณภาพชีวิตและการกินดีอยู่ดีของประชากรไทยในระยะยาว

ดังนั้น เมื่อเกิดกิจกรรมวิจัย จำเป็นต้องมีบุคลากรวิจัยที่มีความรู้ความสามารถ โดยได้ปลดล็อคปัญหาการขาดแคลนนักวิจัยที่กระจุกตัวอยู่ในภาครัฐ  ให้ไปเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชนภายใต้โครงการ Talent Mobility, พร้อมระดมนักเรียนทุนรัฐบาล ที่จบระดับปริญญาเอกกว่า 2,700 คน มาร่วมทำโจทย์วิจัยตามยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ อีกทั้ง ยังให้ความสำคัญใน การพัฒนากำลังคนทุกช่วงวัย ให้มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ (หรือ STEM) โดยจัดเป็นยุทธศาสตร์หลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในการสนับสนุนทุนการศึกษา การจัดทำหลักสูตรสาขาขาดแคลน อาทิ วิศวกรรมระบบราง นวัตกรรมเพื่อการเกษตร หุ่นยนต์อุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตยา เป็นต้น รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกับการทำงาน (หรือที่เรียกสั้นๆว่า โครงการ WiL) และโรงเรียนในโรงงานการอบรมพัฒนาแรงงานภาคการผลิตให้มีทักษะ และมีความสามารถเชิงเทคโนโลยีที่สูงขึ้น รวมไปถึงการจัดการเรียนรู้ STEM ตามอัธยาศัย และสร้างความตระหนักเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์และมีความสามารถในการสร้างนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมมือ กับประชาชนคนไทย ในการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเราได้สร้างเครือข่ายบริหารจัดการน้ำชุมชนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 60 เครือข่าย 19 ลุ่มน้ำ 543  หมู่บ้านทั่วประเทศ สามารถขจัดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งและทำให้ชุมชนมีรายได้จากการเกษตรตลอดปี เราประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์  ผืนป่าที่สะแกราช จ.นครราชสีมา ให้อุดมสมบูรณ์มาตลอดระยะเวลา 50 ปี โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของพี่น้องในพื้นที่ช่วยให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน จนได้รับรางวัลจากองค์การ ‘ยูเนสโก’ ให้ผืนป่า 50,000 ไร่ของสะแกราชเป็นพื้นที่ชีวมณฑล 1 ใน 7 แห่งของทวีปเอเชีย, หรือแม้แต่ความสำเร็จในการพัฒนาทักษะคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้โครงการแม่ฮ่องสอน ไอที วัลเล่ย์

ในโอกาสที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4  จึงขอฝากเจ้าหน้าที่ทุกท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทและเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและช่วยกันเสริมสร้างพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของประเทศในทุกๆด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีขีดความสามารถสูงขึ้นอันนำไปสู่ความมั่นคง     มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังนั้น จึงต้องมีวิสัยทัศน์ และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ รวมทั้งมีความตระหนักถึงภารกิจ ความรับผิดชอบและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันหมั่นเพียร ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ อดทนและยึดมั่นในความถูกต้อง อีกทั้งต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และวิธีการทำงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์และมุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก

 

ที่มารูปและข่าว : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี