นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรณี น.ส. วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 360 บาททั่วประเทศ และให้ปฏิรูปประกันสังคมให้โปร่งใสนั้น กระทรวงแรงงานขอเรียนว่า การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นการพิจารณาร่วมกันทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง ภาครัฐ ในลักษณะไตรภาคีภายใต้คณะกรรมการค่าจ้าง โดยรับข้อเสนอมาจากอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานซึ่งอนุกรรมการมีองค์ประกอบร่วม 3 ฝ่าย เช่นเดียวกับส่วนกลาง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอของทุกจังหวัด โดยคณะทำงานฯ ที่แต่งตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด 3 ประการ คือ 1) สภาพเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่และภาพรวมของประเทศ 2) ความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง และ 3) ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ดังนั้น การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดจึงขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ดี คณะกรรมการค่าจ้างกลางได้ให้ความเห็นชอบอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน ครั้งล่าสุดอีก 20 สาขาใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยมีอัตราค่าจ้างตามมาตรฐาน ต่ำที่สุดอยู่ที่ 360 บาท/วัน สูงสุดอยู่ที่ 550 บาท/วัน ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันอังคาร (22 มี.ค.) นี้
ในส่วนของการปฏิรูปประกันสังคม พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเงินกองทุนทั้งของผู้ใช้แรงงาน นายจ้างและรัฐบาล โดยมุ่งเน้นปฏิรูปเพื่อให้กองทุนมีเสถียรภาพ เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก้ผู้ประกันตน พัฒนาระบบบริการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ประกันตนทุกคน ซึ่งภายใต้รัฐบาลชุดนี้ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนหลายประการ อาทิ ค่าคลอดบุตร เงินสงเคราะห์บุตร เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ เป็นต้น สำหรับงบประมาณ 69 ล้านบาท ของสำนักงานประกันสังคมในปี 2558 เพื่อไปดูงานต่างประเทศนั้นได้มีการปรับลดจากปี 57 ประมาณ 47% และในปี 2559 ได้ปรับลดลงอีก 13.73% โดยให้ยกเลิกโครงการเดินทางของคณะกรรมการต่าง ๆ จำนวน 8 คณะ โดยถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 อย่างเคร่งครัด โดยการเดินทางไปจะเป็นการประชุมว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่าง ๆ อันจะส่งผลดีต่อการบริหารกองทุนในอนาคต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนเอง อีกประการหนึ่ง คือ การจัดสรรงบให้สภาองค์การนายจ้าง – ลูกจ้าง จัดอบรม สัมมนา ภายใต้วงเงิน 50 ล้านบาท นั้น สำนักงานประกันสังคมเห็นว่าสภาองค์การทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แต่ละองค์การมี 14 แห่ง 2 องค์กร 28 แห่ง เพื่อดำเนินการให้ความรู้ได้อย่างทั่วถึงในฐานะผู้แทนของแต่ละฝ่าย ซึ่งสถานประกอบการในระบบมีกว่า 4 แสนแห่ง ผู้ประกันตนกว่า 13 ล้านคน และปัจจุบันได้ให้สหภาพแรงงานที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสภาฯ ทั้ง 28 แห่ง สามารถขอรับการสนับสนุนวิทยากรได้ทั่วประเทศด้วย
นายธีรพลฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเดินทางไปราชการต่างประเทศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในแต่ละครั้ง ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ อาทิ การเดินทางไปประเทศมอลตา เป็นการประชุม The Sea Web Seafood Summit โดยได้รับมอบหมายจาก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อชี้แจงถึงความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหา การดำเนินงานเกี่ยวกับกิจการประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งจากการประชุมทุกฝ่ายรับทราบและสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลไทย โดยผู้ร่วมประชุมมีการกล่าวในเวที ในวันสุดท้ายของการประชุมว่า“Don’t boycott Thailand” ซึ่งหากไม่ไปชี้แจงสร้างการรับรู้ อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้ง 2 กิจการนี้ โดยแต่ละปีสร้างมูลค่าให้แก่ประเทศไทยกว่า 1 แสนล้านบาท อีกประเทศ คือ กาตาร์ ซึ่งเดินทางไปตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาการบริหารแรงงานและกิจการสังคมของรัฐกาตาร์ ซึ่งทางกาตาร์ต้องการแรงงานไทยเพื่อเตรียมการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ปี 2022 ในการเยือนครั้งนี้ กาตาร์แจ้งความต้องการแรงงานไทยประเภทกึ่งฝีมือโดยให้อัตราค่าจ้างสูง จำนวนกว่า 29,000 คน โดยที่ผ่านมากระทรวงแรงงานส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศจะต้องได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าประเทศไทย ในปี 2558 สามารถสร้างรายได้ส่งกลับผ่านระบบธนาคาร 82,456 ล้านบาท และช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 59 สร้างรายได้กลับกว่า 14,100 ล้านบาท และล่าสุดเดินทางไป สปป.ลาว เพื่อร่วมหารือลงนาม MOU ด้านแรงงานร่วมกัน พร้อมสนับสนุน สปป.ลาว ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีแรงงาน ASEAN ในเดือน พ.ค.59 นี้ และจะใช้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน จ.เชียงราย เป็นศูนย์ฝึกร่วมกันของ ASEAN พร้อมพิจารณาเสนอจัดตั้งกองทุนแรงงาน ASEAN ด้วย ซึ่งการเดินทางไปแต่ละประเทศ นอกจากกระชับความสัมพันธ์แล้วยังเกิดประโยชน์แก่พี่น้องผู้ใช้แรงงานและเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก
นายธีรพลฯ กล่าวในท้ายที่สุดว่า ในกรณีโพลล์ล่าสุดของ ม.กรุงเทพฯซึ่งสำรวจจระหว่าง 1-30 มีค.59 นั้น เป็นโพลล์ของรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดคำถามของโพลล์ และกลุ่มตัวอย่าง 60 คน โดยส่วนมากมาจากสถาบันทางการเงิน แบบสอบถามจะถามเกี่ยวกับ การเงิน การพลังงานและหนี้สาธารณะ โดยมีรัฐมนตรีเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ ที่จะสอบถามจำนวน 9 คนเท่านั้น และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานด้วย ซึ่งได้ 4.95 คะแนน โดยมีผู้ไม่ตอบถึง 19.9% ซึ่ง น.ส. วิไลวรรณฯ นำมากล่าวว่า สอบตกในการทำงานคงไม่เป็นธรรมนัก เพราะหากดูผลสำรวจจากผลงานทุกกระทรวง 19 กระทรวง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ 5,476 คน ระหว่างวันที่ 25 ก.พ. – 5 มี.ค. 59 ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกัน พบว่า กระทรวงแรงงานอยู่ลำดับที่ 7 มีคะแนน 6.82 คะแนน โดยกระทรวงกลาโหมอยู่อันดับ 1 คะแนน 7.99 จากโพลล์นี้คงชัดเจนว่าการทำงานที่ผ่านมาของกระทรวงแรงงานในฐานะกระทรวงด้านความมั่นคงของรัฐบาล และทำงานควบคู่ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม มีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างไร ดังเช่นปี 58 สร้างงานโดยบรรจุงานให้คนไทยได้ทำงานในประเทศกว่า 446,000 คน สร้างรายได้แก่ครอบครัวกว่า 4,000 ล้านบาท/เดือน และเพียงช่วงเดือน ม.ค. – ก.พ. 59 บรรจุงานได้อีกกว่า 67,300 คน สร้างรายได้กว่า 600 ล้านบาท ด้วย ฉะนั้น การวิพากษ์อะไรก็ตามขอให้นำข้อเท็จจริงทั้งหมดมาเสนออย่าใช้เพียงส่วนเดียวที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่กลุ่มตนเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ต่อกรณีการยื่นข้อเรียกร้องของ คสรท. ผู้บริหารกระทรวงแรงงานทุกคนให้ความสำคัญ โดยรับเรื่องด้วยตนเองทุกครั้ง หากไม่ติดภารกิจสำคัญจริง ๆ ซึ่งครั้งแรกปลัดกระทรวงแรงงานก็มารับเรื่องจาก คสรท. ด้วยตนเอง เรื่องการปรับอัตราค่าจ้าง สำหรับครั้งนี้ ปลัดกระทรวงแรงงานต้องเดินทางไปในฐานะตัวแทนประเทศไทย ประชุมคณะประศาสน์การ สมัยที่ 236 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และได้มอบหมายให้ นายสุวิทย์ สุมาลา รองปลัดกระทรวงแรงงาน รับข้อเสนอแทน เพื่อพิจารณาแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ที่มา: กระทรวงแรงงาน