เนื้อหาวันที่ : 2007-08-02 09:30:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1570 views

คลัง เตรียมออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทกู้วิกฤตบาทแข็ง

การขยายฐานผู้ออกและผู้ลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินบาทในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดตราสารหนี้เพื่อรองรับการออกตราสารหนี้ภายใต้กรอบตลาดพันธบัตรเอเชีย

ตามที่กระทรวงการคลังได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศให้เป็นแหล่งระดมทุนในระดับภูมิภาค โดยการออกพันธบัตรให้มีความหลากหลาย และการขยายฐานผู้ออกและผู้ลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินบาทในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดตราสารหนี้เพื่อรองรับการออกตราสารหนี้ภายใต้กรอบตลาดพันธบัตรเอเชีย ซึ่งต่อมาได้มีการออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การอนุญาตให้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศ ลงวันที่ 11 เมษายน 2549 โดยกำหนดให้ผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขออนุญาตได้ ปีละ 2 ครั้ง คือ ภายในเดือนพฤษภาคมและพฤศจิกายนของทุกปี นั้น

.

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามอนุญาตให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินของรัฐบาลต่างประเทศ จำนวน 6 ราย ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทย ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2550 ได้แก่ Central American Bank for Economic Integration (CABEI)

.

ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระหว่างประเทศของอเมริกากลาง วงเงิน 4,900 ล้านบาท ธนาคารโลก (International Bank for Reconstruction and Development: IBRD) วงเงิน 5,000 ล้านบาท บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) วงเงิน 5,000 ล้านบาท ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JBIC) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐบาลญี่ปุ่น วงเงิน 3,000 ล้านบาท สถาบันเครดิตเพื่อการบูรณะและพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (KfW) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐบาลเยอรมัน วงเงิน 4,000 ล้านบาท และ Nordic Investment Bank ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐบาลกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย วงเงิน 5,000 ล้านบาท

.

การอนุญาตให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศ และสถาบันการเงินของรัฐบาลต่างประเทศออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในประเทศไทยในครั้งนี้ นับเป็นอีกมาตรการหนึ่งของกระทรวงการคลังภายใต้แผนพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยฉบับที่ 2 ที่มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้มีผู้ระดมทุนและผู้ลงทุนต่างชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของมูลค่าตลาดรวม