เป็นที่ยอมรับว่าประเทศไทยยังมีความอ่อนแอด้านโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องเร่งสร้างและพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมถึงแม้จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการผลิตแต่ผู้ประกอบการก็ยังคงต้องการแรงงานคุณภาพเข้าสู่สถานประกอบการ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และนักวิจัย ที่จะเข้าไปตอบโจทย์แก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมได้อย่างเข้าใจและรู้จริง ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะช่วยผลิตบุคลากรที่มีทักษะและคุณภาพออกสู่สังคมและประเทศเพื่อช่วยสร้างมูลค่าและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศในตลาดโลกต่อไป
“การสร้างบัณฑิตให้เก่งและดี คิดได้ทำเป็น” ถือเป็นเป้าหมายหลักของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และการจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้นั้น จะต้องได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพันธมิตรซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ล่าสุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกลุ่ม KTIS โดยบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตควบคู่กับการส่งเสริมการศึกษาขึ้น เมื่อวันพุธที่ 9 มีนาคม 2559 ณ ห้องประชุม ชั้น 11 อาคารซีโนบริต โดยได้รับเกียรติจากนายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินกลุ่มKTIS รศ.ดร.บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มจธ. และคณะผู้บริหาร ร่วมเป็นสักขีพยาน
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีหน้าที่หลักในการพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณภาพสูงสุดเท่าที่ทำได้เพื่อออกไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และหนึ่งในมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ จึงมีอีกหน้าที่คือ การวิจัยและพัฒนา หาองค์ความรู้ใหม่ๆ และความรู้นั้นจะต้องไปก่อให้เกิดประโยชน์และทำงานร่วมกับภาคเอกชนและภาครัฐ เพื่อสร้างสมรรถนะให้กับประเทศ
“ซึ่งกลไกสำคัญในการผลิตบัณฑิตของมจธ.จากประสบการณ์ที่ก่อตั้งมากว่า 56 ปี มหาวิทยาลัยได้เรียนรู้ว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุด คือ การเรียนรู้จากโจทย์และปัญหาจริง ฉะนั้นการที่ได้ร่วมมือกับบริษัทที่มีประสบการณ์เข้ามาเป็นเครือข่ายความร่วมมือ เช่น บริษัท เคทิส ที่มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ก็จะเอื้อประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัยที่จะได้ใช้โอกาสในการพัฒนานักศึกษาให้รู้จักการแก้ปัญหาจากการใช้โจทย์จริง เกิดการเรียนรู้ ก็จะพัฒนาให้เขาได้คิดเป็นทำเป็น เพราะการเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปเรียนรู้ร่วมกับการทำงานในสถานประกอบการนั้นต้องยอมรับว่าที่ผ่านมายังเป็นจุดอ่อนของระบบการศึกษาไทยที่จะมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้ามาถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์หรือให้คำแนะนำแก่อาจารย์และนักศึกษาถือว่ามีน้อยมาก ในด้านงานวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยก็มองหาโจทย์ที่มีคุณค่าทางวิชาการโจทย์ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ด้านการวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งต่อทางวิชาการและผู้ประกอบการ การที่ประเทศไทยจะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้จำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องยอมลงทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาคนและพัฒนาความรู้ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เชื่อว่าในการร่วมมือกันครั้งนี้จะนำเอาประสบการณ์ความรู้จากผู้ประกอบการมารวมกับประสบการณ์ทางด้านวิชาการเพื่อจะช่วยกันพัฒนาสิ่งที่จะนำไปสู่การสร้างสมรรถนะความสามารถของประเทศได้ในที่สุด”
ด้าน นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS กล่าวว่า กลุ่มเคทิส เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประกอบด้วย ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษจากชานอ้อยฟอกขาว ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล โรงไฟฟ้าชีวมวล และธุรกิจผลิตและจำหน่ายสารปรับปรุงดินและปุ๋ยชีวภาพ ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับงานวิจัยและพัฒนา ดังนั้นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตควบคู่กับการส่งเสริมการศึกษากับ มจธ.ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นด้านงานวิจัยและมีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับนานาชาติและในประเทศมากมายในครั้งนี้ เชื่อว่า จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการพัฒนาทักษะบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัย และมีความเชื่อมั่นว่าจากศักยภาพความพร้อมด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีของทั้ง 2 องค์กรจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนและผลักดันงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถแข่งขันในเชิงพาณิชย์ได้ในเวทีสากล เกิดผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์นำไปสู่ความก้าวหน้าและความสำเร็จร่วมกัน
นายอภิชาต นุชประยูร ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม KTIS และกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด ยังได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของความร่วมมือครั้งนี้ว่า จากความต้องการพัฒนาธุรกิจของกลุ่มเคทิสอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จึงได้จัดตั้งบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัดขึ้น เพื่อสรรหาองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกทั้งหาแนวทางในการจัดการของเหลือทิ้งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตของบริษัทในเครือให้มีความประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นการที่ร่วมเป็นพันธมิตรกับ มจธ.ในครั้งนี้ เชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการในอนาคต โดยความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะการพัฒนากระบวนการผลิตด้านต่างๆ ของกลุ่มบริษัทเคทิสให้มี ประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากขึ้น และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน โดยการรับนักศึกษาของ มจธ.เข้าร่วมฝึกทักษะ รวมทั้งเพื่อดำเนินกิจกรรมอื่นๆที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นสมควรร่วมกันต่อไป