สศอ.เสนอแผนปฏิรูปภาคอุตสาหกรรม จับมือ 3 ประเทศหุ้นส่วน ขับเคลื่อน 3 อุตสาหกรรมอนาคต ดันรายได้ประชากรเพิ่ม 2.25 เท่า ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูงภายใน 10 ปี
นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยภายหลังงานสัมมนา “ประเทศหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์สำคัญของประเทศไทย ในการก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง” ว่า สศอ. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการศึกษายุทธศาสตร์ภาคอุตสาหกรรมของประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อพัฒนาและกำหนดตำแหน่งยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทยในอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อหาร่วมมือกับประเทศที่มีศักยภาพและเหมาะสมต่อการเป็นหุ้นส่วนทางกลยุทธ์สำคัญ (Strategic Partnership) ซึ่งจะส่งผลให้ไทยสามารถยกระดับองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่การผลิตในระดับโลก
จากการศึกษาประเทศเป้าหมายที่มีโอกาสเป็นหุ้นส่วนทางกลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงประเทศที่อยู่นอกกลุ่มภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ในเครือข่ายการผลิตระดับโลกในอุตสาหกรรมที่ได้ทำการคัดเลือก โดยพิจารณาจากองค์ประกอบในด้านทรัพยากร บุคลากร ตลาด และองค์ความรู้ที่สามารถขับเคลื่อนการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง พบว่าประเทศเป้าหมายที่มีโอกาสเป็นหุ้นส่วนของไทย คือประเทศมาเลเซีย, บรูไนดารุสซาลาม และสิงคโปร์ โดยมี 3 อุตสาหกรรมอนาคตที่ควรได้รับการพัฒนาเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันร่วมกัน ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food for the future) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยานและซ่อมบำรุง (Aerospace) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)
ส่วนยุทธศาสตร์ที่จะทำให้ไทยหลุดจากประเทศรายได้ปานกลาง ประกอบด้วย 1. ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและบริการให้มากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพ ทักษะฝีมือแรงงานให้สามารถปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยกระบวนการผลิตเพื่อให้ต้นทุนต่ำลง 2. การมีมาตรการสนับสนุนให้ SMEs ของคนไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการสร้างแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีระดับสูง และส่งเสริมให้มีงานวิจัยในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มขึ้น และ 3. สนับสนุนลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนาของประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการจัดสรรงบประมาณและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณวิจัย และบูรณาการงานวิจัยระหว่างหน่วยงานและเน้นการทำวิจัยเพื่อนำไปใช้จริง
ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 มีประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางจำนวน 101 ประเทศทั่วโลก มีเพียง 13 ประเทศเท่านั้นที่สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นกลุ่มรายได้สูงได้ ส่วนที่เหลือยังคงเป็นประเทศรายได้ปานกลางต่อไป จากการถอดบทเรียนประเทศดังกล่าวพบว่ามีปัจจัยร่วมคือการจัดสรรปัจจัยเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาเชิงเทคโนโลยี และนวัตกรรม และมีการเปลี่ยนแปลงจากการผลิตสินค้าปฐมภูมิ (Primary Product) ไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (High -Value added Product) เป็นสินค้าที่มีคุณลักษณะโดดเด่นหรือมีกระบวนการผลิตที่มีความซับซ้อน (Sophisticated Product)
“การจะหลุดพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางในอนาคตของประเทศไทย จำเป็นต้องมีการพึ่งพาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การสร้างนวัตกรรม การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรและการศึกษาควบคู่กันไป ซึ่งหากอัตราการเติบโตปัจจุบันมีเพียงประมาณ 2-3 % อาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเดิมได้ ดังนั้นไทยจึงมีความจำเป็นต้องร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์สำคัญ ผนึกกำลัง (Synergy) ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเพิ่มรายได้ต่อหัวของประชากร (GDP per capita) ขึ้นอีก 2.25 เท่าของรายได้ในปัจจุบัน ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า” ผศอ.กล่าว